ตอนที่ 424 งานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติ

Scholar’s Advanced Technological System ระบบปั้นอัจฉริยะ

ตอนที่ 424 งานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติ โดย Ink Stone_Fantasy

ตอนเช้า วันที่ 1 สิงหาคม 2018

ฝูงชนมารวมตัวกันในห้องประชุม

นี่เป็นงานประชุมคณิตศาสตร์ที่สำคัญที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด งานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติเป็นที่รู้จักในชื่อโอลิมปิกของโลกคณิตศาสตร์ เว้นแต่ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง มันจัดขึ้นทุกสี่ปีตั้งแต่ปีหนึ่งแปดเก้าเจ็ดแล้ว

นี่เป็นงานประชุมนานาชาติที่มีไว้เป็นสถานที่ให้นักคณิตศาสตร์แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน หารือเรื่องปัญหาทางวิชาการ พบปะเพื่อนเก่า และหาเพื่อนใหม่ งานประชุมทุกครั้งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของโลกคณิตศาสตร์

งานประชุมปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ

ไม่ใช่เพียงเพราะนี่เป็นงานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติครั้งแรกที่จัดขึ้นที่ซีกโลกใต้เท่านั้น แต่เป็นเพราะปัญหารางวัลมิลเลนเนียมอีกด้วย งานประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

ลู่โจวอยู่ในชุดสูท เขากำลังเดินอยู่นอกหอประชุมและบังเอิญพบกับศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมน และทั้งสองก็เข้าหอประชุมด้วยกัน

ลู่โจวยืนอยู่ตรงที่คนไม่พลุกพล่านและมองดูนาฬิกา

มันแปดโมงแล้ว มีเวลาชั่วโมงหนึ่งกว่าจะเริ่มพิธีเปิด

เฟฟเฟอร์แมน “ฉันได้ยินว่า  CCTV ของประเทศคุณยื่นคำร้องขออนุญาตถ่ายทอดสดในห้องประชุม”

ลู่โจวมองไปมุมห้องและเห็นโลโก้ CCTV บนกล้องตัวหนึ่ง

ชายคนที่กำลังแบกกล้องสังเกตเห็นลู่โจวเช่นกัน เขาจึงหันกล้องมาทางลู่โจว

ลู่โจวละสายตาจากอีกฝ่ายแล้วเอ่ยถาม “มันหายากเหรอ?”

“หายาก อย่างน้อยฉันก็เคยเห็นเป็นครั้งแรกเลย” ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนกล่าว จากนั้นเขาก็ยิ้มและตบบ่าลู่โจวเบาๆ “คุณรู้สึกยังไง? ประหม่าไหม?”

ลู่โจวคิดชั่วครู่ก่อนจะตอบ “…ผมโอเค”

การบรรยายของเขาจบลงแล้ว เนื่องจากวันนี้เป็นเพียงพิธีเปิด เขาจึงแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

ส่วน CCTV …

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาออกทีวีทั่วประเทศสักหน่อย

ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนมองลู่โจวอย่างแปลกใจ “ไม่น่าเชื่อ…นั่นเป็นช่องทีวีที่มีผู้ชมถึงหนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน คุณไม่ประหม่าเลยเหรอ?”

ลู่โจวกล่าว “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่…”

“…อันที่จริงมีเรื่องหนึ่งอาจสำคัญกับคุณ แต่ฉันไม่แน่ใจว่าฉันควรบอกคุณไหม” เฟฟเฟอร์แมนมีท่าทางลังเล เขาไม่มั่นใจว่าตนเองควรบอกลู่โจวไหม

ลู่โจวถาม “เรื่องอะไรครับ?”

เฟฟเฟอร์แมนมองไปโดยรอบ เมื่อเขายืนยันได้ว่าไม่มีใครจ้องมองมา เขาก็กระแอมแล้วกล่าวเสียงเบา “ตอนงานเลี้ยงเมื่อวาน ฉันพูดเรื่องเหรียญฟิลด์สปีนี้กับสหายเก่า เขาบอกรายชื่อผู้ชนะกับฉัน…”

ลู่โจวช็อกกับข่าวนี้

จากนั้นสักครู่เขาก็พูด “…มันไม่ดีเท่าไหร่มั้ง?”

ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนกล่าวอย่างจริงจัง “ไม่เป็นไร แต่ฉันหวังว่าคุณจะเก็บเป็นความลับนะ”

ลู่โจวมองซ้ายมองขวา

แม้เขาจะรู้ว่าเขาไม่ควรถาม แต่เขาก็ควบคุมความสงสัยของตนเองไม่ได้

“…ผมขอถามได้ไหม ใครอยู่ในรายชื่อ?”

ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนถาม “คุณอยากรู้จริงเหรอ?”

ลู่โจวพยักหน้า “ใช่”

ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนลดเสียงลง “น่าเสียดาย ชื่อของคุณไม่ติด…แต่พวกเราคิดเหมือนกันว่าคุณสมควรได้เหรียญฟิลด์ปีนี้”

ลู่โจว “???”

เชี่ย!

ไม่มีทางน่า

ผลงานของฉันยังไม่พอได้เหรียญฟิลด์สอีกเหรอ?

ลู่โจวช็อก

จู่ๆเขาก็ได้ยินเสียงที่คุ้นเคยดังมาจากข้างๆ

“อย่าฟังเขาพูดเหลวไหล ไม่มีใครรู้รายชื่อผู้ชนะก่อนประกาศ เฟฟเฟอร์แมนก็ไม่เว้น” ศาสตราจารย์เดอลีงย์กล่าวด้วยสีหน้าเฉยเมย จากนั้นเขาก็มองศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนแล้วถามอย่างไม่ไว้หน้า “บอกฉันหน่อย เพื่อนที่ว่าคือใคร?”

เฟฟเฟอร์แมนกระแอมแล้วพยายามเบือนหน้าหนี “โอ้ สหายเดอลีงย์ที่เคารพ…ฉันแค่พูดเล่นเอง อย่าคิดจริงจังสิ! ถ้าคุณจริงจังกับทุกเรื่อง ชีวิตก็เครียดพอดี”

ลู่โจวพูดไม่ออก “…คุณเกือบหลอกผม”

เฟฟเฟอร์แมนหัวเราะแล้วตบบ่าลู่โจว “อย่าจริงจังสิ เห็นไหม คุณหายกังวลแล้วใช่ไหมล่ะ?”

ลู่โจวกล่าว “ผมไม่เครียดนะ จนคุณมาหลอกผมนี่แหละ”

ศาสตราจารย์เฟฟเฟอร์แมนถอนหายใจ “โอเค ฉันขอโทษ…”

เวลาเก้าโมงตรง

นักวิชาการทั่วทุกมุมโลกนั่งอยู่ในงาน และงานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติครั้งที่ยี่สิบแปดก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

ศาสตราจารย์เวียนา หัวหน้าคณะกรรมการงานประชุมและผู้อำนวยการสภาคณิตศาสตร์นานาชาติ ก็ได้พูดเปิดบนเวที เธอขอบคุณผู้จัดงานประชุมท้องถิ่นและผู้เข้าร่วมงานประชุมก่อนจะประกาศเริ่มงานประชุมคณิตศาสตร์อย่างเป็นทางการ

หลังพิธีเปิดก็เป็นช่วงการมอบรางวัล

นี่เป็นส่วนไคลแมกซ์ของงานประชุม

รางวัลคาร์ล ฟรีดริช เกาส์[1]ถูกประกาศเป็นรางวัลแรก นี่เป็นรางวัลที่มอบให้กับความสำเร็จในสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์

เดวิด โดโนโฮจากมหาลัยสแตนฟอร์ดเป็นผู้ได้รับรางวัลคาร์ล ฟรีดริช เกาส์ปีนี้ เขาได้รับเนื่องจากผลงานในคณิตสถิติศาสตร์และการวิเคราะห์เชิงคำนวณในสาขาการประมวลผลสัญญาณ

รางวัลถัดไปเป็นรางวัลเฉินนี่เป็นรางวัลให้แก่นักคณิตศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงตลอดทั้งช่วงชีวิต ผู้ชนะรางวัลเฉินปีนี้คือมาซากิ คาชิวาระจากผลงานตลอดห้าสิบกว่าปีของเขาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงพีชคณิตและทฤษฎีตัวแทน

ถัดไปเป็นรางวัลลีลาวาติ(Leelavati Award) และผู้ชนะก็คือนักคณิตศาสตร์ชาวตุรกีชื่ออาลี เนซิน…

สุดท้ายเป็นช่วงสำคัญของพิธีมอบรางวัล และเป็นไฮไลท์ของทั้งงานประชุมนักคณิตศาสตร์นานาชาติ การประกาศผู้ชนะเหรียญฟิลด์

มันเป็นรางวัลมอบให้แก่นักคณิตศาสตร์ที่มีอายุไม่เกินสี่สิบปี ที่มีผลงานโดดเด่นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เหรียญฟิลด์สถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดที่นักคณิตศาสตร์รุ่นใหม่รับได้ มันเป็นที่รู้จักกันในชื่อรางวัลโนเบลทางคณิตศาสตร์

แม้ว่าเหรียญจะไม่ได้ตัดสินความยิ่งใหญ่ของนักคณิตศาสตร์ แต่นักวิชาการที่ได้รับรางวัลนี้จะได้รับความเคารพและการยอมรับจากทั้งชุมชนคณิตศาสตร์

ช่วงเวลาก่อนรายชื่อผู้ชนะถูกประกาศ…

ผู้คนต่างกลั้นลมหายใจจับตาดูบนเวทีด้วยความกระตือรือร้น

โดยเฉพาะเหล่าคนที่หวังชนะเหรียญฟิลด์ส

จางเหว่ยนั่งอยู่ท่ามกลางฝูงชนอย่างกระวนกระวาย เขากำหมัดไว้แน่น

โมลิน่านั่งข้างโซเฟีย เธอกำเข่าแน่นอย่างเป็นกังวล

เจมส์ เมย์นาร์ดจากสหราชอาณาจักรก็มาร่วมงานเช่นกัน เขานั่งกอดอกอยู่มุมห้องประชุม เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีจำนวนรุ่นใหม่ที่เข้าชิงเหรียญฟิลด์สเช่นกัน แม้ว่าเขาจะเคยพ่ายแพ้ให้กับคนๆ หนึ่งในข้อคาดการณ์จำนวนเฉพาะคู่แฝดก็ตาม…

ศาสตราจารย์โมริสัมผัสถึงความกระตือรือร้นของฝูงชน

เขายิ้มอย่างเป็นกันเองก่อนจะกระแอมแล้วพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“เขามีความเข้าใจในการประยุกต์ใช้แนวคิดทางคณิตศาสตร์สูงยิ่ง มีความทะเยอทะยานที่ไม่ธรรมดาและมีความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

“…ตั้งแต่ทฤษฎีบทโจว-ลู่ไปจนถึงทฤษฎีบทจำนวนเฉพาะคู่แฝด ตั้งแต่ทฤษฎีบทปอลิญัก-ลู่ไปจนถึงทฤษฎีบทก็อลท์บัค-ลู่ เขาได้เพิ่มการวิจัยที่แปลกใหม่และไม่เคยมีมาก่อนให้กับสาขาวิชาเก่าแก่และยิ่งใหญ่แก่ทฤษฎีจำนวนเพิ่มเติม”

“ไม่เพียงแค่ทฤษฎีจำนวน แต่การวิเคราะห์เชิงฟังก์ชัน ทฤษฎีกรุป ทอพอโลยี เรขาคณิตเชิงอนุพันธ์ สมการเชิงอนุพันธ์ย่อย…งานของเขาครอบคลุมหลายสาขาวิชา ผลงานของเขาไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ”

“ฉันเชื่อว่าผลงานของเขาไม่ได้มาจากพรสวรรค์ของเขาเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อนับไม่ถ้วน”

จากนั้นผู้อำนวยการโมริประกาศด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึม

“ผู้ชนะคนแรกคือ…ลู่โจว!”

………………………………..

 [1] คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ (Carl Friedrich Gauss Prize) – ซึ่งมอบให้กับผลงานทางคณิตศาสตร์ที่มีการประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่นๆ อย่างโดดเด่น