ณ ฟอรั่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ LSPM
วันนี้ในฟอรั่มไม่ได้เงียบสงบเหมือนวันก่อนๆ หลายส่วนของฟอรั่มในวันนี้คึกคักเป็นอย่างมาก
งานวิจัยที่ชื่อ ‘การวิเคราะห์ทางทฤษฎีของการบีบอัดแม่เหล็กระเบิดพลังงานสูงและแบบจำลองแนวคิดของเครื่องกำเนิดสนามแม่เหล็กพัลส์’ ปรากฏขึ้นในฐานข้อมูลรอตีพิมพ์ของ LSPM พร้อมกับงานวิจัยที่ชื่อ ‘แบบจำลองโฮโลแกรมของเครื่องกำเนิดแม่เหล็กพัลส์ A1’
เพราะงานวิจัยล่าสุดของลู่โจวที่ตีพิมพ์ใน ‘ฟิวเจอร์’ ทำให้คนหลายคนตั้งข้อสงสัยกับงานวิจัยที่นักวิชาการคนนี้ทำขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน โดยเฉพาะพวกคนที่อยากจะรู้เรื่องไอเดียฟิวชั่นที่ควบคุมได้รุ่นที่สองที่เขาเสนอขึ้น
และด้วยสาเหตุนี้โดยเฉพาะจึงทำให้เมื่องานวิจัยเรื่องสนามแม่เหล็กพัลส์ออกมา ยูสเซอร์ทั้งฟอรั่ม LSPM ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือแค่ผู้สนใจในวิทยาศาสตร์ที่เป็นมือใหม่ต่างก็ช็อกกันทั้งนั้น
“บ้าเอ๊ย นี่มัน…ธีสิสของนักวิชาการลู่อย่างนั้นเหรอ?!”
“มันไร้สาระเหรอ?”
“นี่เป็นไปได้อย่างไรกัน…เขาเพิ่งจะอายุสามสิบต้นๆ เขายังไม่เกษียณด้วยซ้ำ เขาไม่มีทางยอมเสียชื่อเสียงในวงการวิชาการของเขาไปหรอก”
“ก็ไม่ได้น่าแปลกใจอะไรนะที่นักวิชาการจากสมัยร้อยปีก่อนที่ตื่นขึ้นมาจะสามารถเข้าใจงานวิจัยในปัจจุบันได้ แต่ที่น่าเหลือเชื่อก็คือ เขาสามารถหาผลลัพธ์ที่พลิกวงการได้นี่แหละ”
“ไม่ใช่ว่าเขาโพสต์งานวิจัยมาแล้วเหรอก่อนหน้านี้? แล้วจะมาตื่นเต้นทำพระแสงอะไรกัน?”
“มันไม่เหมือนกันสิ งานวิจัยครั้งก่อนมันก็แค่การทบทวน ไฮไลต์ไม่ได้อยู่แค่การผลักดันไอเดียทางเทคนิคบางข้อที่อาจจะทำให้คนคิดเรื่องฟิวชั่นที่ควบคุมได้รุ่นที่สองอย่างเดียวนะ แต่เห็นได้ชัดว่างานวิจัยนี้ยังมีรายละเอียดหัวข้อวิจัยเฉพาะทางที่ละเอียดยิบและเขียนอย่างชำนาญอีกด้วย ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มันมีผลลัพธ์ที่เห็นได้จริง!”
“มีใครลองทดสอบหรือยังว่าแบบจำลองโฮโลแกรมที่เขาให้มามันเป็นของจริงหรือของปลอม?”
“กำลังทำอยู่! ที่ปรึกษาฉันเพิ่งติดต่อบริษัทที่ร่วมงานกับแล็บของเราในเขตไฮเทคจินหลิง ถ้าทำได้เร็ว ก็น่าจะได้ตัวอย่างในวันพรุ่งนี้!”
สิ่งที่แตกต่างระหว่างการวิจัยในศตวรรษที่ 22 กับศตวรรษที่ 21 อาจจะเป็นเรื่องความรวดเร็วของการตรวจสอบ
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพรินต์ 3 มิติที่พบเจอได้ทุกที่ หรือบริการอุตสาหกรรมแบบปรับแต่งเองได้ที่ทำขึ้นโดยบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะหลายแห่ง ทำให้ระยะห่างระหว่างแนวคิดกับความเป็นจริงนั้นแทบจะใกล้กับเลขศูนย์เข้าเต็มที
ซึ่งก็แน่นอนว่า พวกเขาต้องมีแต้มเครดิตไว้จ่ายล่วงหน้าด้วย
และก็ต้องมีคอนเซปต์เตรียมไว้ก่อน
ดังนั้น เมื่อลู่โจวให้องค์ประกอบโฮโลแกรมและพารามิเตอร์ที่ลงรายละเอียดของ ‘เครื่องกำเนิดสนามแม่เหล็กพัลส์ A1’ มา จึงทำให้แล็บหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้ารีบตรวจสอบแบบจำลองนั้นทันที
และผลลัพธ์ที่ได้ก็เกินความคาดหมายที่ทุกคนคาดไว้
ถึงจำนวนสนามแม่เหล็กที่เครื่องกำเนิดสนามแม่เหล็กพัลส์ A1 ผลิตขึ้นมานั้นจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่มันก็สามารถเพิ่มพลังสนามแม่เหล็กได้ถึงสิบเท่าที่ความถี่ 50 เฮิรตซ์!
และยังไม่ได้มีแค่นั้น สิ่งที่น่าประหลาดใจมากที่สุดก็คือ ใครก็แล้วแต่ที่มีความรู้สักนิดก็จะเห็นว่าอุปกรณ์นี้ยังสามารถพัฒนาเพิ่มได้อีกหลายขั้น
มันไม่เพียงแต่จะนำไปพัฒนาเพิ่มในด้านของระดับพลังและสนามแม่เหล็กได้เท่านั้น แต่ดีไซน์หลายแบบของเครื่องนี้ รวมถึงตัว ‘อินพุตพอร์ตพลังงานสูง’ ยังทำมาให้อุปกรณ์ฟิวชั่นที่ควบคุมได้รุ่นที่สองโดยเฉพาะอีกด้วย!
เมื่อวิศวกรส่วนใหญ่ที่ทำงานวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้าได้อ่านงานวิจัยนี้แล้ว พวกเขาต่างก็เริ่มสงสัยในหน้าที่การงานของตัวเอง
ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 22 มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนธรรมดาจะสามารถเรียนรู้ในศาสตร์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่แล้วออกมาเป็นผลวิจัยแบบใหม่ล่าสุด โดยที่ไม่ได้ศึกษาศาสตร์นั้นมาอย่างน้อยสิบถึงยี่สิบปี
ไม่มีใครเชื่อว่านักวิชาการจากเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนที่เพิ่งตื่นขึ้นมาจะไม่ได้มีปัญหากับการตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่เขายังทำผลวิจัยที่เป็นแนวทางใหม่ในวงการใหม่เอี่ยมอ่องอีกด้วย!
คนหลายคนคาดเดากันว่านักวิชาการลู่จะเลิกสนใจเรื่องวิชาการไปแล้ว เหมือนกับที่นิวตันได้เลือกไว้ในตอนนั้น เขายอมแพ้ ไม่เลือกที่จะไต่ขึ้นไปในลำดับที่สูงขึ้นของวงการวิชาการ แต่กลับเลือกที่จะอุทิศตัวเองให้วงการการเงินแทน
แต่กลายเป็นว่าความจริงดูจะเป็นไปในคนละทิศละทางกับสิ่งที่คนคาดคิดกันไว้
และที่น่าละเหี่ยใจที่สุดก็คือ หลังจากนิวตันออกจากวงการวิชาการ เขาก็สูญเสียเงินไปกับตลาดหุ้นในเวลามากกว่า 20 ปี ในขณะที่นักวิชาการลู่ที่ไม่ได้ออกจากวงการวิชาการ เหมือนจะได้กำไรจากตลาดหุ้นอย่างไรอย่างนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เหมือนเขาจะได้กำไรมามากเสียด้วย…
ณ สถาบันวิทยาศาสตร์พาน-เอเชียน
นักวิชาการจางเฟยเยว่มองจอโฮโลแกรมตรงหน้าเขา เขานั่งอยู่ในออฟฟิศ ใจสมองแอบเชื่อมั่นในงานวิจัยตรงหน้า
“สนามแม่เหล็กพัลส์ที่เกิดจากเทคโนโลยีการบีบอัดพายุแม่เหล็กเหรอ?”
“น่าสนใจดีนี่”
ในฐานะนักวิชาการที่ทำงานวิจัยฟิสิกส์พลาสมา ถึงแม้เขาจะเคยทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ฟิวชั่นที่ควบคุมได้รุ่นที่สองมา แต่ขอบเขตความเชี่ยวชาญของเขาก็ไม่ใช่เรื่องการออกแบบของแม่เหล็กไฟฟ้า
ในทางกลับกัน งานวิจัยของเขาเน้นไปที่ระดับทฤษฎีมากกว่า โดยเฉพาะพลาสมาในเครื่องปฏิกรณ์
ดังนั้นเมื่อดาวน์โหลดแบบจำลองโฮโลแกรมมาเสร็จ เขาจึงไม่สามารถประเมินว่าสิ่งนี้น่าเชื่อถือได้ในทันที เขาทำได้แค่ปรึกษากับเพื่อนจากสถาบันวิศวกรรมในด้านการออกแบบแม่เหล็กไฟฟ้า
ถึงแม้การตรวจสอบแบบจำลองนี้จะยังไม่เสร็จสิ้นดี แต่ตามที่เพื่อนของเขาที่สถาบันวิศวกรรมบอกมา ความเป็นไปได้ที่แบบจำลองนี้จะใช้งานได้นั้นก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก
“ถ้าได้คุยกับนักวิชาการลู่แบบตัวต่อตัวก็ดีสิ”
หลังจากอ่านงานวิจัยอีกรอบ นักวิชาการจางเฟยเยว่ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมอีกฝ่ายจากใจจริง
ไม่ว่าไอเดียดีไซน์แม่เหล็กไฟฟ้านี้จะช่วยเปิดประตูสู่โลกใหม่แห่งการวิจัยฟิวชั่นที่ควบคุมได้หรือไม่ก็ตาม ตัวงานวิจัยเองก็ยังค่อนข้างน่ามหัศจรรย์อยู่ดี
นี่สินะ พลังของนักวิชาการที่เก่งที่สุดของศตวรรษที่ 21
อยากเกิดในสมัยเขาจัง…
นักศึกษาที่นั่งอยู่ในออฟฟิศพูดออกมาด้วยน้ำเสียงชักชวนว่า
“แล็บวิจัยแม่เหล็กไฟฟ้าของอีสต์เอเชียเอเนอร์จี้ก็ขาดแคลนคนอยู่นะครับ ผมเชื่อว่านักวิชาการลู่จะเต็มใจเชิญคุณไปเข้าร่วมโปรเจกต์ฟิวชั่นที่ควบคุมได้รุ่นที่สองของเขานะครับ คิดเหมือนกันไหม?”
“มันก็พูดยาก” นักวิชาการจางเฟยเยว่ส่ายหัว “นักวิชาการลู่มีกฎเกณฑ์แปลกๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่ทำงานด้วยได้ง่าย ไม่มีใครรู้ว่าเขาต้องการทำอะไร”
แต่ในใจเขาก็ยังตื่นเต้นเล็กๆ อยู่
เขาจะถูกปฏิเสธใส่หรือเปล่า? ก็อาจจะ แต่ก็น่าลองนะ
ถ้านักวิชาการลู่จริงจังและต้องการเพิ่มอนาคตให้รุ่นที่สองจริงๆ แล้วล่ะก็…
ถ้าปล่อยผ่านโอกาสที่ฉันจะได้มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไป มันจะไม่น่าเสียดายแย่เลยเหรอ?
หลังจากลังเลอยู่นานมาก นักวิชาการจางเฟยเยว่ก็กัดฟัน เขาปล่อยเรื่องนี้ไปไม่ได้จริงๆ เขาจึงหันหน้าเข้าหาคอมพิวเตอร์ กดเปิดอินเตอร์เฟสโฮโลแกรมขึ้นมา เขียนอีเมล แล้วส่งไปให้ลู่โจว
หลังจากรอไปทั้งเช้า
เขากำลังจะลุกไปกินมื้อเที่ยงที่โรงอาหารอยู่พอดี อีเมลที่มีแค่สามประโยคก็โผล่เข้ามาในกล่องข้อความของเขา
แต่มันเป็นสามประโยคที่เปลี่ยนอารมณ์ของเขาไปเป็นความตื่นเต้นแบบไร้การควบคุม
[นี่ลู่โจวนะครับ
ผมได้อ่านงานวิจัยของคุณแล้ว และผมก็สนใจงานวิจัยของคุณที่เป็นเรื่องในวงการพลาสมาพลังงานสูงมาก
คุณพอจะมีเวลาคุยกับผมตัวต่อตัวไหม?]