ตอนที่ 77 ความสามารถอันน่าทึ่ง

สูตรโกงฉบับเด็กเรียน

ตอนที่ 77 ความสามารถอันน่าทึ่ง

งานแลกเปลี่ยนความรู้ประจำสัปดาห์นี้จัดขึ้นเร็วกว่าเก่า เนื่องจากไม่มีคาริสเป็นคนคอยระดมพลและสร้างบรรยากาศระหว่างรับประทานอาหารค่ำ

ทว่า…เป็นแบบนี้ก็ไม่แย่ อย่างน้อยไป๋เยี่ยก็จะมีส่วนร่วมกับผู้มีประสบการณ์คนอื่นๆ ได้มากขึ้น

วันนี้ไป๋เยี่ยพิมพ์บทความออกมาสี่สิบฉบับและเริ่มค้นคว้ามันอย่างจริงจัง

วันนี้ที่ซาลอนหยิบยกประเด็นเรื่องอาร์เทแอนนิวอินขึ้นมา ไป๋เยี่ยตั้งใจฟังอย่างจดใจจ่อ เพราะว่าประเด็นเรื่องอาร์เทแอนนิวอินเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ปี 1977 และยังคงมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ

หลังจากที่พัฒนามาหลายปี ในที่สุดก็เกิดผลสำเร็จและกลายเป็นหนึ่งในรางวัลโนเบล

และในปัจจุบัน ทุกคนก็วิเคราะห์การพัฒนาอาร์เทแอนนิวอินจากมุมมองของตนเอง

กลุ่มแรกวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลของอาร์เทแอนนิวอิน คาดการณ์การพัฒนาของสารจากลักษณะของโครงสร้างโมเลกุล

กลุ่มที่สองเน้นศึกษาด้านคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ปฏิกิริยาต่อเซลล์ของมนุษย์ และกระบวนการเมแทบอลิซึม

กลุ่มที่สามมุ่งไปที่การวิเคราะห์โครงสร้างของเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่ ปฏิกิริยาของอาร์เทแอนนิวอินต่อเชื้อมาลาเรียและแอนติบอดีของเชื้อมาลาเรียที่กลายพันธุ์

แต่ละกลุ่มแสดงความคิดเห็นต่อการค้นพบและพัฒนาสารอาร์เทแอนนิวอิน รวมถึงกระบวนการสืบค้นสารอาร์เทแอนนิวอิน ทั้งการพัฒนาของสาร และความลำบากในการพัฒนาต่อในปัจจุบัน ตลอดจนการคาดเดาแนวทางการพัฒนาสารต่อไปในในอนาคต

อันที่จริง การตั้งสมมติฐานโดยอิงตามหลักเหตุผลเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายแก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์!

ขอเพียงกล้าที่จะตั้งสมมติฐาน แล้วจึงทำการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้นต่อไป!

แม้ว่าไป๋เยี่ยจะยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น แต่เขาก็เข้าใจเรื่องอาร์เทแอนนิวอินและเชื้อมาลาเรียได้ลึกซึ้งขึ้นมากแล้ว

เวลาสามชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไป๋เยี่ยได้รับความรู้ด้านสรีรวิทยา ชีวเคมี และเภสัชวิทยามากขึ้นในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าค่าประสบการณ์ที่ได้มาจะไม่เพียงพอสำหรับการอัปเลเวล ทว่าไป๋เยี่ยกลับต้องประหลาดใจที่ได้เห็นว่าค่าประสบการณ์ของแต่ละวิชานั้นเพิ่มขึ้นวิชาละราวๆ สองพันแต้ม

ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ที่ไป๋เยี่ยได้เข้ามาร่วมงานกับหน่วยทดลองนี้ ช่วงแลกเปลี่ยนความรู้ในซาลอนก็ยืดไปอีกสองชั่วโมงโดยปริยาย เห็นเช่นนั้นไป๋เยี่ยก็ได้แต่คิดว่า อืม! ได้เวลาแล้ว!

เขายื่นบทความที่เพิ่งพิมพ์ออกมาให้ทุกคนอ่านก่อนจะเอ่ยขึ้น “นี่คือบทความที่ผมเพิ่งเขียนขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยอิงจากการทดลองและวิเคราะห์การใช้สารอาร์เทแอนนิวอินชนิดต่างๆ ในการรักษาโรคมาลาเรียตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2015 ซึ่งผมได้พบสารชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้อาร์เทแอนนิวอินมีความเสถียรมากขึ้น…”

“จากนั้นผมก็ทดลองผสมสารชนิดนี้เข้ากับอาร์เทแอนนิวอิน โครงสร้างของสารชนิดนี้จะมีความพิเศษ…ในการทำให้สารประกอบอื่นๆ เสถียร”

“นี่เป็นบทความฉบับแรกของผม ดังนั้น…ทุกคนให้คำแนะนำ ติชม และแสดงความคิดเห็นได้เลยนะครับ แล้วก็…ผมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะตีพิมพ์บทความฉบับนี้กับที่ไหน ผมเลยหวังว่าทุกคนจะช่วยให้คำแนะนำกับผมได้บ้าง! ขอบคุณมากจริงๆ ครับ!”

ผู้คนด้านล่างเวทีต่างตกตะลึงเมื่อได้ยินคำพูดของไป๋เยี่ย ตอนที่เพิ่งรับกระดาษมา พวกเขาก็ยังไม่ได้คิดอะไรจริงจังนัก แต่พวกเขากลับต้องขมวดคิ้วไปตามๆ กันเมื่อฟังไป๋เยี่ยพูด!

‘การศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารอาร์เทแอนนิวอินเชิงซ้อน’

อะไรคือสารอาร์เทแอนนิวอินเชิงซ้อน

ไม่เห็นจะเคยได้ยินสารชื่อนี้มาก่อนเลย

เหล่านักวิชาการจากทั่วทั้งมุมโลกต่างเกิดความอยากรู้อยากเห็นและงุนงงขึ้นพร้อมๆ กัน พวกเขาลองเปิดบทความฉบับนั้นขึ้นมาอ่านแล้วก็ต้องเบิกตากว้างไปตามๆ กัน

เพราะว่าภาพที่สะท้อนเข้ามายังม่านตาของพวกเขานั้นไม่ใช่ย่อหน้าที่มีแต่ตัวอักษรแต่อย่างใด แต่กลับเป็นภาพของโครงสร้างโมเลกุลชนิดหนึ่ง!

โครงสร้างโมเลกุลนี้…คืออาร์เทแอนนิวอินชนิดใหม่งั้นเหรอ

ไม่ใช่สิ!

ไม่ใช่อาร์เทแอนนิวอิน แต่เป็นสารประกอบบางอย่างต่างหาก!

แต่ว่า…โครงสร้างของอาร์เทแอนนิวอินชนิดนี้และสารประกอบนี่ดูแปลกๆ แฮะ

ทุกคนจึงเริ่มก้มหน้าก้มตาอ่านบทความนั้น

หลังจากที่อ่านตารางการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนแรกและข้อมูลจากตาราง SPSS แล้ว ทุกคนจึงเข้าใจได้ว่าข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นี้เป็นข้อมูลจากอดีต

แค่สมมติฐานและการคาดเดานี้ก็ถือว่าน่าสนใจแล้ว…

บทความที่มีการหาผลลัพธ์ใหม่ๆ จากการศึกษาข้อมูลในอดีตทำให้เกิดประเด็นสำคัญขึ้นมาสองประเด็นใหญ่ๆ ประการแรกคือแหล่งที่มาของข้อมูล ผู้ทำการวิจัยจะต้องมีความมั่นใจในความน่าเชื่อถือของข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปของบทความ นอกจากนี้ ผู้วิจัยจะต้องใช้ข้อมูลเพื่อยืนยันการสมมติฐานและสรุปผลโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด

ประการที่สองคือต้องตรวจสอบประสิทธิภาพหรือความผิดพลาดในการทดลอง หรือค้นหาสิ่งใหม่ๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงพิสูจน์ข้อมูลที่มีคุณค่าต่อการศึกษาเป็นพิเศษด้วย!

ซึ่งนี่ถือเป็นกุญแจสำคัญของบทความชิ้นนี้

สิ่งที่ต้องทำให้ดีในการวิเคราะห์ย้อนหลังก็คือการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ถูกนำมาสนับสนุนความถูกต้องแม่นยำของบทความ

หากจะกล่าวถึงสิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการตีพิมพ์วารสารระดับนานาชาติล่ะก็

ย่อมไม่ใช่มาตรฐานที่ต่ำเตี้ยของตัวบทความ แต่คือความไม่ถูกต้องของเนื้อหาต่างหาก!

หมายความว่าอย่างไรน่ะหรือ

ก็หมายความว่าข้อมูลในการทดลองของคุณนั้นเป็นจริงหรือไม่ ย้อนวิธีการทดลองได้หรือไม่ และมีแนวโน้มมากเท่าใดที่จะดำเนินการทดลองต่อจากที่กล่าวไว้ในบทความ

คุณค่าของบทความขึ้นอยู่กับการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างสิ่งใหม่ๆ หากบทความนั้นมีเนื้อหาเป็นเท็จก็คงไม่มีใครทำการทดลองต่อไปได้ หรืออาจจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงหลังจากที่ทำการทดลองใหม่แล้ว ซึ่งนั่นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยสูญเปล่าอีกด้วย

ดังนั้นทั้งการทดลองและข้อมูลอาจจะดูเรียบง่ายก็ได้ แต่โปรดเคารพกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นการพิสูจน์ความจริงและไม่สร้างข้อมูลเท็จด้วย

ไป๋เยี่ยได้ข้อมูลพวกนี้มาจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นตัวอย่างข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนกว่าสิบล้านตัว

กล่าวได้ว่านี่เป็นเรื่องยากมาก!

ไม่ได้ยากแค่การบันทึกข้อมูลเท่านั้น แต่ยังคำนวณยากอีกด้วย!

ถ้าการรวบรวมข้อมูลมากขนาดนี้ต้องสิ้นเปลืองกำลังคนและทรัพยากรเยอะขนาดนั้นแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ใครจะไปทำกันล่ะ

ในทางตรงกันข้าม การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังนั้นกลับมีคุณค่ามาก แต่สิ่งที่ยากและสำคัญมากที่สุดก็คือการวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเอง!

ซึ่งไป๋เยี่ยเป็นเลิศทางด้านนี้อยู่แล้ว!

นอกจากนี้ บางครั้งการวิเคราะห์ข้อมูลก็ไม่ได้ใช้แค่วิธีการวิเคราะห์หลากหลายวิธีเท่านั้น แต่ยังต้องใช้แนวคิดอื่นๆ เข้ามาเสริมอีกด้วย

ซึ่งการค้นพบของไป๋เยี่ยในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะแนวคิดการแพทย์แผนจีนนั่นเอง

นักวิจัยทั้งสี่สิบคนมองกระดาษในมือพลางขมวดคิ้วมุ่น

ในบทคัดย่อของบทความเขียนพื้นฐานและวัตถุประสงค์ไว้แล้ว เมื่อทุกคนอ่านจบก็เริ่มอ่านเนื้อหาด้านในของบทความและการวิเคราะห์ข้อมูล

และพวกเขาก็ต้องเบิกตากว้างเมื่อได้อ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล!

ทันใดนั้นก็มีเสียงใครบางคนดังสะท้อนไปทั่วทั้งโถงใหญ่!

“ซี้ด!”

เรื่องขัดจังหวะเกิดขึ้นได้เสมอ

มีชายร่างท้วมคนหนึ่งกินอาหารเยอะไปหน่อย เขาหายใจเข้าแล้วเรอออกมาเสียงดังลั่น!

“เอิ๊ก!”

แต่…นั่นก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการชื่นชมผลงานของไป๋เยี่ยเลยแม้แต่น้อย!