ตอนที่ 88 ดาวรุ่งค่อยๆ พุ่งแรง
เผยโฉมหน้าราชาเป็นแค่คำหยอกล้อ
ที่สำคัญก็เพราะเซกชันวรรณกรรมของปู้ลั่วรูดซิปปิดปากเงียบกริบ
นิยายสั้นสามสิบเรื่องร่วมประลองในสังเวียนเดียวกัน ถ้ายังไม่ถึงวันสุดท้ายก็จะไม่บอกว่านักเขียนของนิยายเหล่านี้เป็นใคร บอกแค่ว่านักเขียนเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่งในวงการ…
ปู้ลั่วเลือกใช้วิธีการแข่งขันนี้ พูดได้ว่ากระตุ้นความสงสัยของทุกคนได้ถึงขีดสุด!
ภาษิตกล่าวว่า ความอยากรู้อยากเห็นฆ่าแมวตาย
นักอ่านและผู้คนในแวดวงเรื่องสั้นนั้นไม่ใช่แมว แต่ความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาในตอนนี้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าแมวเลย
ลูกเล่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการใช้วิธีการทางจิตวิทยามาก
ก็เหมือนกับคนคนหนึ่ง พูดจาได้ครึ่งเดียว จากนั้นก็ไม่ยอมพูดอีก
ไม่ว่าคำพูดนั้นจะสำคัญหรือไม่ ผู้ฟังก็ล้วนให้ความสนใจทั้งนั้น ใครใช้ให้หลุดพูดข้อมูลมาตั้งครึ่งหนึ่งแล้วล่ะ
ฉะนั้นในช่องแสดงความคิดเห็นของปู้ลั่ว นักอ่านต่างโพสต์คาดเดานักเขียนไปต่างๆ นานา ตั้งแต่บทความวิเคราะห์หลากหลายด้านอย่างจริงจังกันเหลือเกิน
และต้องบอกว่าสิ่งที่ทุกคนสงสัยมากที่สุด ก็ย่อมเป็นนักเขียนอันดับที่หนึ่งในครั้งนี้!
เมื่อผ่านการแข่งขันเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน ตอนจบของการแข่งขันในการประกวดนิยายสั้นเรื่องนี้ก็ชัดเจนมาก
นิยายสั้นที่ชื่อว่า ‘วาระสุดท้ายของเสมียนรัฐ’ เป็นผลงานที่ชนะการประลองในครั้งนี้!
ในตอนนี้ การถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐนั้นร้อนแรงที่สุด
ในโพสต์คาดเดาเหล่านี้ นักเขียนนิยายสั้นชื่อดังในวงการ ต่างก็ถูกนักอ่านเอ่ยถึงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
น่าเสียดายที่จนกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีใครยอมรับ
แน่นอนว่าหลินเยวียนเองก็เห็นอันดับของตน
พูดตามตรง อันดับหนึ่งซึ่งเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐสามารถคว้ามาได้นั้นอยู่เหนือความคาดหมายของเขามาก เพราะเดิมทีเขาเตรียมตัวเตรียมใจว่านิยายเรื่องนี้จะชิงได้เพียงอันดับสาม
นิยายเรื่องนี้ยอดเยี่ยมสุดๆ แต่น่าเสียดายที่การเสียดสีในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพด้อยไปหน่อย
อีกอย่าง ความด้อยประสิทธิภาพของการเสียดสีนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
หรือจะพูดง่ายๆ ว่า
ถ้าหากหลินเยวียนอาศัยอยู่ในสมัยที่มีการปกครองด้วยระบอบศักดินาอันมืดมน บางทีนิยายเรื่องนี้อาจถ่ายทอดความหมายที่ลึกซึ้งกว่านี้ได้
ทว่าในตอนนี้
ในยุคอันสงบสุขบนบลูสตาร์ นิยายเรื่องนี้กลับดูคล้ายกับใช้วิธี ‘หยิบยืมอดีตมาเสียดสีปัจจุบัน’ เสียมากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้นหลินเยวียนก็ไม่ได้ติดใจกับเรื่องนี้มากเกินไป
ในเมื่อเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าไม่เกิดเรื่องเหนือความคาดหมายละก็ หลินเยวียนก็แค่นั่งรอเงินรางวัลของอันดับหนึ่งโอนเข้าบัญชีก็พอแล้ว
การนั่งรอเงินแบบนี้ไม่กินเวลายืดเยื้อนานหรอก
วันสุดท้ายของเดือนเมษายน ปู้ลั่วก็ประกาศรายชื่อนักเขียน
ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิด ในที่สุดนักเขียนนิยายเหล่านี้ก็ถูกเผยโฉมหน้า!
‘แม่เจ้าโว้ย!’
‘ที่แท้คนเขียนเรื่องคลาดก็คืออาจารย์ผิงเองเหรอเนี่ย ฉันก็ว่าทำไมสำนวนคุ้นๆ ก่อนหน้านี้อาจารย์ผิงก็ไม่ยอมรับ!’
‘นิยายสืบสวนสอบสวนที่ได้อันดับสองนี่เหล่าหวังเป็นคนเขียน! เหล่าหวังจงใจเปลี่ยนสไตล์การเขียนใหม่ จนคนอ่านนึกไม่ถึงเลย’
‘อันดับห้าเรื่องเสียงสะท้อนเป็นผลงานของฉีถง? เรื่องสั้นของฉีถงมีน้อยมาก นึกไม่ถึงว่าคราวนี้จะลองเขียนเรื่องสั้นด้วย’
‘ผลงานอันดับแปดเป็นของเยี่ยเยี่ยเหรอ!’
‘ฮ่าๆๆ ในนี้มีสามเรื่องที่ฉันเดานักเขียนได้!’
‘ฉันเดาได้สองเรื่อง’
‘ก่อนหน้านี้มีโพสต์เดานักเขียน เหมือนมีญาณทิพย์ โพสต์นั้นเดาได้ตั้งแปดคน น่าจะเป็นเทพที่แม่นยำที่สุดในตอ นนี้แล้วแหละ!’
‘…’
คำตอบของปริศนาออกมาแล้ว บรรยากาศของนักอ่านครึ้นเครงกันเหลือเกิน
ทว่าสิ่งแรกที่นักอ่าน รวมไปถึงคนในแวดวงเรื่องสั้นจำนวนมากทำก็คือไปดูว่านักเขียนเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐเป็นใคร
ผลคือ ทั้งนักเขียนในแวดวงเรื่องสั้น และเหล่านักอ่านก็อึ้งทึ่งไปตามๆ กัน
เพราะนี่เป็นชื่อที่คนเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์คาดเดาไม่ออก
‘ฉู่ขวง?’
‘ฉู่ขวงเองเหรอ’
‘นักเขียนเรื่องโฉมงามประดิษฐ์?’
‘คนที่เขียนเรื่องของขวัญแห่งเมไจเมื่อเดือนที่แล้ว?’
‘ฉันจำเขาได้เพราะเรื่องปรินซ์ออฟเทนนิส ที่แท้เขียนเรื่องสั้นได้ด้วย’
‘ดูท่าคอมเมนต์บนๆ คงจะไม่ได้ติดตามวงการเรื่องสั้นช่วงนี้ เรื่องของขวัญแห่งเมไจเป็นนิยายสั้นที่ดังที่สุดของ เดือนที่แล้ว นักเขียนก็คือฉู่ขวงคนนี้แหละ!’
‘เรื่องโฉมงามประดิษฐ์ที่ออกไปช่วงตรุษจีนก็ไม่เลวเลยนะ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าสนุกมาก’
‘ดาวรุ่งของของวงการเรื่องสั้นค่อยๆ พุ่งแล้ว!’
‘ฉันคิดว่านิยายเรื่องนี้เป็นของนักเขียนนิยายที่คร่ำหวอดในวงการนะเนี่ย นึกไม่ถึงว่าจะเป็นดาวรุ่งในวงการเรื่องสั้น!’
‘…’
จะโทษที่นักอ่านตื่นอกตกใจกันขนาดนี้ก็คงไม่ได้
ที่พวกเขาเดาไม่ออกว่านักเรียนของเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐคือฉู่ขวง เหตุผลประการแรกก็เพราะฉู่ขวงเป็นหน้าใหม่ในวงการเรื่องสั้น
ประการที่สอง นิยายสั้นเรื่องนี้กับผลงานสองเรื่องก่อนหน้าของฉู่ขวงนั้นมีสไตล์ที่แตกต่างมาก!
ในการสร้างสรรค์ผลงาน ต่อให้ซ่อนชื่อของนักเขียนไว้ อันที่จริงก็ใช่ว่าจะแยบยลไร้ร่องรอย
เพราะนักเขียนแต่ละคนก็จะมีความคุ้นเคยในการผลิตผลงานที่แตกต่างกัน
ก็เหมือนกับโอ.เฮนรี[1]
เขาชอบเขียนเรื่องที่มีจุดจบหักมุมซึ่งอยู่เหนือความคาดหมายของนักอ่าน
การอยู่เหนือความคาดหมายและความสมเหตุสมผลนั้นเป็นจุดเด่นของงานเขียนของเขา ในโลกวรรณกรรมยกย่องให้การเขียนบทสรุปแบบเขาเป็น ‘บทสรุปแบบโอ.เฮนรี’
ขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ทำให้เขาถูกผู้คนตำหนิเช่นกัน
เพราะมีคนกล่าวว่า อ่านผลงานของโอ.เฮนรีแล้วรู้สึกว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหมด
ทว่า ฉู่ขวงได้ทำลายคำจำกัดความพรรค์นี้ไป
นิยายสองเรื่องก่อนหน้านี้ของเขา ความแตกต่างไม่นับว่าชัดเจน
แต่เมื่อมาถึงเรื่องวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐ ฉู่ขวงถึงกับใช้กลวิธีเสียดสี!
เพื่อการนี้ เขาถึงกับไม่ใช้วิธีการเล่าเรื่องและจุดจบหักมุมอย่างในเรื่องของขวัญแห่งเมไจ
กลวิธีเสียดสีเหนือชั้นกว่า?
ไม่จำเป็นเสมอไปหรอก แต่ในความคิดของผู้คนจำนวนมาก กลวิธีเสียดสีนั้นเป็นการแสดงถึงชั้นเชิงอันยอดเยี่ยม วาระสุดท้ายของเสมียนรัฐได้ครองบัลลังก์แชมป์ในครั้งนี้ ก็เพราะคนจำนวนมากอ่านนิยายแล้วรู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง
ปรากฏการณ์ในชีวิตจริงมากมายถูกนิยายเรื่องนี้เสียดสีเสียเต็มเม็ดเต็มหน่วย!
ดังนั้นทุกคนจึงรู้สึกว่านักเขียนนั้นยอดเยี่ยมมาก
ในตอนนั้นเอง!
หวังกั๋วเจี้ยน นักเขียนเรื่องสั้นซึ่งได้อันดับที่สองก็แสดงความคิดเห็นในปู้ลั่ว ‘ฉู่ขวงได้อันดับที่หนึ่ง ก็เหมือนกับของขวัญแห่งเมไจ ตอนจบเปี่ยมไปด้วยความสนุกของการหักมุม ผมเริ่มจะตั้งตารอความตื่นเต้นที่ฉู่ขวงจะนำพามาในนิยายเรื่องต่อๆ ไปของเขาแล้วละสิ’
จากนั้น
อาจารย์เหล่าผู้ซึ่งได้อันดับที่สามก็แสดงความเห็นว่า ‘ฉู่ขวงเป็นดาวดวงใหม่ของวงการเรื่องสั้น!’
ไม่ใช่แค่เขา
พรึ่บๆๆๆ!
นักเขียนซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสามสิบคน สิบกว่าคนในนั้นแสดงความคิดเห็นผ่านปู้ลั่ว
‘สไตล์ของผลงานก่อนหลังต่างกันมากเลย ใครจะเดาได้ว่านี่เป็นเรืองที่เด็กใหม่อย่างฉู่ขวงเขียน แต่ต้องยอมรับว่าวาระสุดท้ายของเสมียนรัฐเป็นนิยายที่ยอดเยี่ยมมาก’
‘ดีใจมากที่วงการเรื่องสั้นมีนักเขียนที่มีพรสวรรค์แบบนี้ปรากฏขึ้นมา!’
‘เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องของฉู่ขวง ผมอ่านหมดแล้ว เพิ่งเข้ามาในวงการก็ปล่อยผลงานยอดเยี่ยมระดับนี้ได้ เขาเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งจริงๆ’
‘ลูกชายผมชื่นชอบเรื่องปรินซ์ออฟเทนนิสมาก ผมเลยรู้จักนักเขียนคนนี้มานานแล้ว แต่ก็นึกไม่ถึงว่าจะมีวันหนึ่งที่ผมต้องมาพ่ายแพ้ให้เขาในการประกวดเรื่องสั้น ไม่รู้ว่าลูกชายผมจะเสียใจหรือดีใจนะครับ/อิโมจิสุนัขยิ้มกรุ้มกริ่ม’
‘…’
และในแผนกนิตยสารของคลังหนังสือซิลเวอร์บลูในตอนนี้ โหยวหรงหัวหน้าบรรณาธิการนิตยสารอ่านสนุกกลับมีสีหน้าเดือดดาล ทุบโต๊ะอย่างแรงดังปัง
“ปู้ลั่วแย่งคนแล้ว!”
…………………………………………………………….
[1] โอ.เฮนรี (O.Henry) นามปากกาของวิลเลียม ซิดนีย์ พอร์เทอร์ นักเขียนชาวอเมริกัน โดดเด่นด้านการเขียนเรื่องสั้น และเป็นนักเขียนต้นฉบับของเรื่องขอบขวัญแห่งเมไจ