บทที่ 222 ไร้ยางอาย

สูตรโกงฉบับเด็กเรียน

บทที่ 222 ไร้ยางอาย

อันที่จริงแนวทางของไป๋เยี่ยคือต้องสร้างกรอบทฤษฎีจุลชีพภายในลำไส้ขึ้นมาก่อน จากนั้นค่อยวิจัยในเชิงลึกต่อไป

เพราะว่าตอนนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็กำลังแข่งขันกันเพื่อชิงรางวัลผลงานดีเด่นนี้ แม้จะไม่ใช่รางวัลระดับนานาชาติแต่มันก็มีความหมายมากพอ

นี่คือรางวัลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในสาขาทวารหนัก หากได้รับรางวัลก็หมายความว่าทั้งโลกให้การยอมรับในสถานะทางวิชาการของชาตินั้นๆ

เมื่อทฤษฎีจุลชีพภายในลำไส้ถูกก่อตั้งขึ้นแล้วก็ได้เวลามอบรางวัลผลงานดีเด่น

ระหว่างประชุม ไป๋เยี่ยก็ได้จำนวนผู้ร่วมรับผิดชอบทั้งสิ้นยี่สิบสี่คนจากโรงพยาบาลชั้นนำทั้งยี่สิบสี่แห่ง ทั้งหมดล้วนเป็นบุคลากรชั้นนำผู้มีศักยภาพในด้านนี้ โดยไป๋เยี่ยจะเริ่มจากการเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งทีมวิจัยขึ้น แล้วจึงมอบหมายงานให้แต่ละทีม

เวลาค่อยๆ ผ่านเลยไป ไม่นานนักหนึ่งสัปดาห์ก็ผ่านไปในชั่วพริบตา ไป๋เยี่ยจ้องมองไปยังรายชื่อทีมวิจัยที่ตนสร้างขึ้น

โรงพยาบาลระดับชั้นนำทั้งยี่สิบสี่แห่ง สถาบันวิจัยมากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง และนักวิจัยนับหลายพันคนจากทั่วประเทศมารวมตัวกันในโครงการนี้

ช่วงนี้ไป๋เยี่ยแทบไม่ได้พักผ่อนเลย ทว่าเขากลับค่อยๆ ปรับปรุงแผนงานวิจัยภายในห้องแล็บไปเรื่อยๆ

ตัวชี้วัดถึงสภาพของจุลชีพภายในลำไส้คือสารฟทาริกชนิดอาร์ ช่วงนี้ไป๋เยี่ยได้ลองทำการทดสอบตัวชี้วัดดังกล่าวไปนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดและโรคในลำไส้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับจุลชีพภายในลำไส้ สภาพแวดล้อมภายในลำไส้ก็เปรียบเสมือนสภาพแวดล้อมในหลอดเลือด ตัวชี้วัดดังกล่าวก็เปรียบเสมือนส่วนประกอบของเลือด ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด หรือฮีโมโกลบิน[1]ก็ตาม

ในลำไส้เองก็มีสารต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงสมดุลยภาพและประสิทธิภาพของจุลชีพเหล่านั้นได้

ตอนนี้สิ่งที่ไป๋เยี่ยต้องทำคือส่งตัวชี้วัดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ แต่ละกลุ่มมีหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษาตัวชี้วัดและความสำคัญของตัวชี้วัดเหล่านี้ในร่างกายมนุษย์

นี่คือการทดลองเชิงปฏิบัติที่ทำในห้องแล็บไม่ได้

ระหว่างที่การวิจัยกำลังดำเนินไปทีละขั้นตอน ไป๋เยี่ยก็ยังคงทำงานของเขาอยู่ในห้องแล็บต่อไป ทว่าเขาก็ยังคงได้รับโทรศัพท์จากพานเซี่ยงเหนียนอยู่บ้าง

ช่วงนี้ไป๋เยี่ยมักจะติดต่อกับพานเซี่ยงเหนียนและคนอื่นๆ เพราะอย่างไรการทำวิจัยก็ต้องมีข้อมูลทางสถิติและผลการทดสอบตัวชี้วัด

ทันทีที่รับสาย พานเซี่ยงเหนียนก็โพล่งขึ้นมาด้วยน้ำเสียงร้อนรน

“เสี่ยวเยี่ย! อ่าน ‘วารสารการแพทย์เอเชีย’ ฉบับล่าสุดหรือยัง จะบ้าตาย ไอ้พวกญี่ปุ่นมันหน้าด้านจริงๆ เลย! เหอะ แบบนี้จะต่างอะไรกับการลอกเลียนแบบ! ผมจะส่งให้คุณอ่านดูแล้วกัน” 艾琳小說

น้ำเสียงของพานเซี่ยงเหนียนแฝงไปด้วยความรีบร้อนเสียจนไป๋เยี่ยตะลึงงันไปครู่หนึ่ง หมายความว่าไง ลอกเลียนแบบ เกิดอะไรขึ้น แล้วอะไรคือวารสารการแพทย์เอเชีย

มันคือวารสารอะไรกันแน่

ไป๋เยี่ยลองถามอีกฝ่ายอย่างใจเย็นจึงได้ค้นพบว่าวารสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นพิเศษ!

อีกทั้งชื่อหัวข้อก็คือ ‘จุลชีพภายในลำไส้’!

ไป๋เยี่ยวางสายและรีบค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทันที เขาพบว่านี่คือวารสารการแพทย์ของญี่ปุ่นที่พอมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ได้คะแนนไอเอฟสูงถึงเก้าคะแนน ถือว่าเป็นวารสารระดับแนวหน้าได้เลย

จู่ๆ ไป๋เยี่ยก็พอเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้าง! ทันทีที่พานเซี่ยงเหนียนส่งวารสารฉบับนั้นมา เขาก็พบว่ามีคีย์เวิร์ดสำคัญปรากฏอยู่บนหน้าปก

‘จุลชีพภายในลำไส้ – ศักราชใหม่แห่งการรักษาโรคบริเวณทวารหนัก’!

ไป๋เยี่ยยิ้มแห้งๆ ก่อนจะเปิดอ่านสารบัญ เขาไม่รู้ว่าควรจะอ่านอะไรจากวารสารฉบับนี้เลย กลับกันเขาดันรู้สึกอยากหัวเราะขึ้นมา

เพราะว่าหลายทฤษฎีที่ปรากฏอยู่ในวารสารนั้นสอดคล้องกับทฤษฎีดั้งเดิมของไป๋เยี่ย มีหลายทฤษฎีที่ใกล้เคียงกับแนวคิดที่ไป๋เยี่ยเสนอในที่ประชุมเมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่มีรายละเอียดที่ครอบคลุมกว่าทฤษฎีของไป๋เยี่ย

อันที่จริงเป็นเพราะตอนนั้นไป๋เยี่ยมีเวลาจำกัด จึงไม่ได้เขียนอะไรลงไปมากนัก บทความกว่าสี่สิบบทความในวารสารฉบับพิเศษนี้ให้คำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับจุลชีพภายในลำไส้จากหลากหลายมุมมอง

ไป๋เยี่ยอ่านบทความติดต่อกันจำนวนมาก จนในที่สุดเขาก็หยุดอ่านเนื้อหาและอ่านบทคัดย่อของบทความเหล่านั้นแทน

ทันทีที่เห็นชื่อผู้เขียนบทความเหล่านั้น เขาก็แค่นหัวเราะออกมา ช่างเป็นชื่อที่คุ้นเคยเสียจริง ‘ไอดะ ทามะ’!

อย่างไรก็ต้องชื่นชมอีกฝ่ายโดยเฉพาะเรื่องการยอมรับสิ่งใหม่ๆ หลังจากที่ไอดะ ทามะยอมรับทฤษฎีนี้แล้วเขาก็เริ่มค้นคว้าและตีพิมพ์บทความออกมามากมายในเวลาอันสั้น

อีกทั้งไป๋เยี่ยยังชื่นชมในความไร้ยางอายของอีกฝ่ายด้วย ทั้งที่ตอนนั้นเขาเป็นคนป่าวประกาศต่อหน้าที่ประชุมว่าแนวคิดของไป๋เยี่ยยังเชื่อถือไม่ได้ ทั้งยังปฏิเสธแนวคิด แต่ตอนนี้ดูเหมือนเขาจะมีความสุขกว่าใครๆ!

ถือว่าดำเนินการได้ไวจริงๆ กว่าจะตีพิมพ์วารสารฉบับพิเศษออกมาสักฉบับต้องอาศัยเวลาตั้งเท่าไหร่ แต่ไอดะ ทามะกลับคิดนั่นคิดนี่ออกมาได้เยอะแยะ ช่างเป็นความสามารถอันน่าประทับใจจริงๆ!

ไป๋เยี่ยเข้าใจเจตนาของอีกฝ่ายแล้ว นั่นก็คืออีกฝ่ายรีบฉวยโอกาสก่อนที่ไป๋เยี่ยจะคิดค้นทฤษฎีนี้สำเร็จนั่นเอง

อย่างไรเสีย ‘วารสารการแพทย์เอเชีย’ ก็ถือเป็นวารสารที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่นกัน วารสารนี้ตีพิมพ์ฉบับพิเศษเรื่องสมดุลยภาพของสภาพแวดล้อมภายในลำไส้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนนับไม่ถ้วนนี่เอง

ตามคาด วันรุ่งขึ้น ทั้งนิตยสารและสำนักข่าวชื่อดังจากทั่วโลกก็เริ่มรายงานถึงเหตุการณ์นี้ สื่อต่างๆ ก็เริ่มนำเรื่องนี้ไปอวดอ้างความดีความชอบ

กลายเป็นว่าไอดะ ทามะได้เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยโรคบริเวณทวารหนัก อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นนักวิชาการที่มีสถานะค่อนข้างสูงในแวดวงการแพทย์ บวกกับการที่ได้ตีพิมพ์บทความจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลของเขาในสังคมเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

แน่นอนว่ามีผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยกล่าวว่าผู้เสนอทฤษฎีคือไป๋เยี่ย ไม่ใช่ไอดะ ทามะ

แต่ถึงกระนั้น ไป๋เยี่ยก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เลย ต่างจากไอดะ ทามะที่ตีพิมพ์บทความลงวารสารอย่างเมามัน

บทความนับสิบดึงดูดความสนใจของผู้คนจำนวนมาก

ไอดะ ทามะกลายเป็นดาวเด่นในสายตาหลายๆ คนจนเรียกได้ว่าเขากลายเป็นบุคคลสำคัญที่บุกเบิกทฤษฎีจุลชีพภายในลำไส้!

ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน คะแนนไอเอฟของ ‘วารสารการแพทย์เอเชีย’ ก็ค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ! สูงจนทำลายสถิติเก่าไปที่ 9.9 คะแนน!

ทว่าในขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์หักมุมขึ้น!

วันที่หนึ่ง พฤศจิกายน ระหว่างที่วารสารฉบับเดือนตุลาคมหลายๆ เจ้ากำลังตีพิมพ์ออกมาว่อน จู่ๆ ทุกคนก็ค้นพบว่ามีชื่อของบุคคลผู้หนึ่งปรากฏอยู่บนหน้าปกของวารสารนับหลายฉบับ

เขามีนามว่า ‘ไป๋เยี่ย’!

ทั้ง ‘นิวอิงแลนด์’ ‘เดอะแลนซิต’ ‘เจเอเอ็มเอ’ และ ‘เดอะบีเจเอ็ม’…ซึ่งเป็นวารสารสิบอันดับแรกของโลกต่างมีชื่อและใบหน้าของไป๋เยี่ยเด่นหราอยู่บนหน้าปก

ตามด้วยประโยค ‘ผู้คิดค้นทฤษฎีจุลชีพภายในลำไส้ – ไป๋เยี่ย’!

ผู้คนต่างตกตะลึง การที่คนคนหนึ่งได้ขึ้นเป็นหน้าปกของวารสารชั้นนำหลายฉบับช่างเป็นเรื่องใหญ่นัก!

แล้วไป๋เยี่ยผู้นี้คือใครกัน เหตุใดเขาจึงถูกขนานนามว่าเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีจุลชีพภายในลำไส้!

[1] ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) คือ ส่วนประกอบสำคัญของเลือด มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย