ตอนที่ 283 สมองระเบิด

ไต้รุ่ยและจางปินมองหน้ากัน ขณะเดียวกันก็มองเห็นความเหลือเชื่อในสายตาของอีกฝ่าย ฉากจบนี้เป็นเหมือนหลุมดำซึ่งอุบัติขึ้นมาอย่างฉับพลัน ดูดกลืนจินตนาการ และทำลายมันจนสูญสิ้นไปในชั่วพริบตา

สรุปแล้วเยี่ยเซินมองเห็นหรือไม่?

หมอถูกเจียงเยี่ยนสังหารจริงหรือไม่?

กระต่ายที่ถูกรถชนนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่?

เรื่องราวที่เขาเล่าให้ซูเฟยฟังเป็นเรื่องจริงหรือไม่?

เดิมทีคำถามเหล่านี้สมเหตุสมผลในตัวมันเอง ทว่าคำตอบทั้งหมดราวกับถูกลบล้างไปเพราะการปัดกระป๋องอย่างแม่นยำของเยี่ยเซิน ทำให้ในตอนนี้มีแต่เครื่องหมายคำถามลอยล่องอยู่ในห้วงสำนึกของทุกคนเพราะความค้างคาใจ

“ไม่ได้”

ไต้รุ่ยซึ่งเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์ด้วยท่าทางคล้ายกับใจลอย ฉวยมือจางปินซึ่งกำลังจมอยู่ในห้วงความคิดเช่นกัน “พรุ่งนี้มาดูกันอีกรอบดีมั้ย ฉันรู้สึกว่าตอนแรกพวกเราโฟกัสกับดนตรีมากเกินไป ทำให้มองข้ามรายละเอียดไปเยอะเลย”

“ได้สิ”

จางปินตอบตกลง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่นกับจุดหักมุมได้อย่างถึงพริกถึงขิง ฉากจบก็ยิ่งหักมุมอย่างสุดขั้ว ผู้เขียนบทใช้เพียงรายละเอียดเดียวเพื่อหักล้างความเข้าใจทั้งหมดของทุกคนหลังจากชมภาพยนตร์!

รวมไปถึงจางปิน

นี่เป็นครั้งแรกที่จางปินตัดสินใจดูภาพยนตร์เป็นครั้งที่สองหลังจากที่ดูครั้งแรกจบ

แต่ถ้าหากไม่เลือกดูหนังเรื่องนี้อีกครั้ง ความสงสัยมากมายของเขาไม่มีทางคลี่คลาย นี่เป็นความรู้สึกที่คล้ายกับจะดูหนังเข้าใจ แต่ก็คล้ายกับยังไม่เข้าใจ และนั่นมักจะทำให้ผู้คนรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ

เมื่อทั้งสองเดินออกมา พวกเขายังสังเกตเห็นว่าผู้ชมหลายคนตัดสินใจแบบเดียวกับพวกเขา “ตอนจบพิสูจน์ได้ว่าตัวเอกโกหก แต่คำถามคือเขาเริ่มโกหกตั้งแต่เมื่อไหร่ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยมาดูอีกรอบแล้วกัน…”

แน่นอนว่าคนที่ตัดสินใจมาดูซ้ำนั้นเป็นส่วนน้อย

คนส่วนใหญ่เลือกที่จะค้นหาคำตอบทางอินเทอร์เน็ตทันทีที่เดินออกจากโรงภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่คาดเดาได้ก็อุบัติขึ้นแล้ว

ทุกคนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์สุดระทึกใจนี้ด้วยความรู้สึกตกใจระคนสงสัย!

[ชือโย่วโย่ว] ‘ตอนจบทำเอาฉันอึ้งไปเลย’!

[หญ้าเขียว] ‘หักมุมตอนสุดท้ายเทพมาก!!! เอาไปเลย 50 คะแนน!’

[นกน้อยใต้ท้องทะเล] ‘ฉากสุดท้ายที่เยี่ยเซินใช้ไม้เท้าฟาดกระป๋องบนถนนเป็นข้อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ตาบอด เขาโกหกซูเฟยอีกครั้ง แต่ผมกำลังดื่มด่ำกับเพลงในตอนสุดท้าย (เพลงเปียโนท่อนนี้ทำให้คนฉู่ตาเหลือกได้เลยล่ะ แต่ตอนนี้ผมขอพูดเรื่องหนังก่อน) คลาสสิกสุดๆ ทำให้ผมลืมนึกถึงการหักมุมครั้งใหญ่ในตอนสุดท้ายไปเลย มีใครพอจะช่วยอธิบายได้ไหมครับ’

‘มาครับ ผมอธิบายเอง’

ในกระทู้ภาพยนตร์ระทึกขวัญสักกระทู้หนึ่ง

ชาวเน็ตซึ่งใช้ชื่อว่า [หัวใจของผมมันไม่เป็นของผมอีกต่อไปเพราะถูกคุณขโมยไป] เข้ามาอธิบายว่า

‘ผู้ชายคนที่เล็งปืนยิงกระต่ายไม่มีตัวตนอยู่จริง เพียงแต่ตัวเอกแต่งเรื่องขึ้นมาจากรูปลักษณ์ของหัวกระต่ายบนไม้เท้า เจียงเยี่ยนไม่ได้ฆ่าหมอ ในความจริงแล้วเยี่ยเซินกับหมอตลาดมืดคนนั้นพาเจียงเยี่ยนไปส่งให้เศรษฐีลึกลับ ใช้ไตของเธอแลกมาเป็นเงินก้อนหนึ่ง และใช้เงินก้อนนั้นจัดคอนเสิร์ต และใช้กระจกตาของเธอแลกกับกระจกตาของตัวเอง บางทีเยี่ยเซินอยากรักษาภาพจำที่ดีกับแฟนเก้า จึงปิดบังความจริงที่ว่าตนฆ่าคน และเลือกที่จะโกหก’

‘คำถามคือเขาเริ่มโกหกตั้งแต่ตอนไหน’

‘ผู้ชมที่จับรายละเอียดได้จะพบว่า ในเรื่องราวหลักของหนัง กับเรื่องราวที่เยี่ยเซินเล่าให้ซูเฟยฟังนั้น ถูกถ่ายทอดผ่านฉากเดียวกัน นั่นคือต้นไม้ริมถนน’

‘ในเรื่องหลักบรรยายไว้ว่าหมอกำลังขับรถพาเยี่ยเซินกับเจียงเยี่ยนผ่านต้นไม้ต้นหนึ่ง และขับห่างออกไปเรื่อยๆ จากตอนนี้ ฉากก็ตัดไปที่สองปีให้หลังในต้าฉิน ซึ่งก็คือสถานที่ที่เยี่ยเซินเล่าสิ่งที่ตัวเองเจอมาให้กับซูเฟยฟัง’

‘และในเวอร์ชันที่เยี่ยเซินเล่า ตำแหน่งของต้นไม้เดียวกัน หมอยังไม่ทันขับรถผ่าน ก็จอดรถแล้ว! เพราะเจียงเยี่ยนซึ่งอยู่ด้านหลังฟื้นขึ้นมาและส่งเสียงดัง หมอก็เลยหยิบเข็มฉีดยาลงไปเปิดกระโปรงรถ แต่กลับถูกเจียงเยี่ยนฆ่า เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเยี่ยเซินเริ่มโกหกตั้งแต่จุดไหน ต้นไม้ก็เป็นคำตอบให้แล้ว!’

‘…’

โพสต์นี้ถูกปักหมุดไว้สูงสุด และได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างมากที่สุด เพราะหลักฐานที่บรรยายมานั้นค่อนข้างเป็นภววิสัย และน่าเชื่อถือกว่าการคาดเดาโดยไร้เหตุไร้ผล

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนวิเคราะห์ในลักษณะที่แตกต่างออกไป

‘ผมว่าตัวเอกเป็นนักเปียโนคนหนึ่งที่ชอบแกล้งเป็นคนตาบอด บางทีหลังจากที่เขาถูกซูเฟยจับได้ว่ามีชู้ จนกระทั่งพวกเขามาพบกันที่ต้าฉิน ล้วนเป็นคำโกหกของนักเปียโน หลังจากตัวเอกมีอะไรกับผู้หญิงคนนั้นแล้วก็ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาแก้ตัว จากนั้นก็แยกทางกับแฟนคนนั้น หลังจากนั้นเมื่อมาถึงต้าฉินก็คิดหาคำพูดสวยๆ มาเล่า!’

‘ตัวเอกได้รับรู้ความหอมหวานของการแสร้งทำเป็นตาบอด เขาชอบฉวยโอกาสที่คนไม่ได้ระวังตัวเติมเต็มความปรารถนาของตัวเอง เขาชอบตัวตนในฐานะคนตาบอดเพื่อถ้ำมองคนอื่น’

‘เป็นไปได้ไหมที่ผู้ชายที่ถือปืนยิงกระต่ายตอนต้นเรื่องมีตัวตนจริงๆ เจียงเยี่ยนไม่ได้ตอบโต้ตอนที่อยู่ท้ายกระโปรงรถ หมอถูกลูกหลงที่ผู้ชายคนนั้นยิงปืนระหว่างระหว่างทางขับรถไปตลาดมืด ตัวเอกกับเจียงเยี่ยนได้รับการช่วยเหลือ จากนั้นตัวเอกก็หลอกหรือไม่ก็โน้มน้าวคนยิงกระต่าย และกำจัดหมอไปได้ ส่งเจียงเยี่ยนให้เศรษฐีลึกลับ เพื่อแลกกับโอกาสในการเปลี่ยนกระจกตา และเงินเพื่อมายังฉินโจว…’

‘เป็นไปได้ทั้งหมดเลย ถึงยังไงทุกคนในหนังก็ไม่ใช่คนดีอะไร! มีแค่ซูเฟยที่น่าสงสาร ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า’

‘ไม่หรอก ซูเฟยไม่ได้ถูกหลอก ตอนที่ซูเฟยรับไม้เท้าหัวกระต่ายมา จู่ๆ ซูเฟยก็แสยะยิ้ม ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าซูเฟยเดาออกแล้วว่าตัวเอกโกหก แต่ซูเฟยก็คิดว่าตัวเอกทำถูกแล้วที่ฆ่าเจียงเยี่ยน ท้ายที่สุดแล้วเธอก็เลยเอ่ยปลอบตัวเอกไปประโยคหนึ่ง ว่าตัวเอกควรจะเอากระจกตาของผู้หญิงคนนั้นมา’

‘ไม่มีใครเป็นคนดีจริงๆ ด้วย…’

บทวิเคราะห์ต่างๆ บนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าตอนจบแบบปลายเปิดนำไปสู่ทิศทางที่แตกต่างกันออกไป

และหลังจากที่ผู้ชมส่วนใหญ่ได้อ่านบทวิเคราะห์นี้ ถึงได้ค้นพบด้วยความประหลาดใจว่าแท้จริงแล้วตนมองข้ามรายละเอียดไปตั้งมากมาย!

ซูเฟยรู้ความจริงแล้วเหรอเนี่ย!

บ้าชะมัด พวกเขาดูหนังเรื่องเดียวกันหรือเปล่า!

รับการศึกษาภาคบังคับมาเหมือนกัน ทำไมพวกคุณถึงมองออกล่ะ

ในตอนนั้นมีชาวเน็ต ‘ดูเทพทั้งหลายวิเคราะห์กัน จู่ๆ ผมก็รู้สึกว่าตัวเอกคงผิดหวังกับซูเฟย บางทีความปรารถนาดีในตอนแรกของเขายังคงอยู่ ก็เหมือนกับในเรื่องราวของเขา สิ่งที่สังหารเจียงเยี่ยนแทนเขาเป็นเพียงกระต่ายตาบอดตัวหนึ่ง ขอเสริมหน่อยนะครับ มีคนบอกว่าเพลงในตอนสุดท้ายของตัวเอกเชื่อมโยงกับซูเฟย ผมรู้สึกว่า คนที่เยี่ยเซินชอบไม่ใช่ซูเฟย แต่เป็นความรู้สึกดีๆ ในใจตอนแรก แต่สุดท้ายแล้วซูเฟยไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด’

‘…’

ระหว่างที่พูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติ นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งก็ปรากฏตัว

เป็นการวิเคราะห์จากหลายมุมมองเช่นกัน แต่ข้อสรุปที่ได้โดยทั่วไปจะใช้ต้นไม้เป็นหมุดวัดเช่นเดียวกัน

การย้อนภาพของต้นไม้ เป็นช่วงที่ตัวเอกเริ่มโกหก

เมื่ออ่านบทวิจารณ์และบทวิเคราะห์เหล่านี้จบ ผู้ชมก็เริ่มตระหนักได้ว่ายิ่งคิดยิ่งรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้น่ากลัวขนาดไหน!

‘พล็อตเรื่องนี้น่าทึ่งมาก! ผมล่ะอึ้งไปเลย! ความชั่วร้ายของมนุษย์ถูกเปิดเผยขึ้นเรื่อยๆ ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ผมแค่ดูโปสเตอร์กับอ่านบรรทัดแรกของคำโปรย ยังคิดซะว่านี่เป็นหนังแนวดนตรีเกี่ยวกับปณิธานของคนตาบอด ปรากฏว่าการตีแผ่ของเรื่องราวนั้นไม่ธรรมดา บทที่เซี่ยนอวี๋เขียนโคตรบ้าบิ่น!’

‘ผมล่ะอย่างชอบเลย!’

‘มาเพื่อฟังเพลง แต่รู้สึกอิ่มเอมสุดๆ สนุกมากกก! หักมุมจนนับไม่ไหว เล่นซะฉันขนลุกไปทั้งตัว! ตอนเริ่มและตอนท้ายของหนัง รวมไปถึงฉากสุดท้ายของตัวเอกให้พื้นที่สำหรับจินตนาการไว้มากจริงๆ! เป็นหนังระทึกขวัญที่ดีที่สุดเท่าที่ดูมาในปีนี้เลย!’

‘นึกไม่ถึงว่าเซี่ยนอวี๋จะใช้ดาร์กคอเมดีและเทคนิคการเล่าเรื่องแบบนี้! ดูหนังไปได้ยี่สิบนาทีก็รู้สึกว่าทิศทางของหนังสูญเสียการควบคุมไปนิดหน่อย หลังจากนั้นก็รู้สึกเหมือนถูกตอนจบลากไปตบกลางสี่แยก นอกจากแฟนของคุณพี่นักเปียโนที่ยังนับว่าพอมีความดีอยู่บ้าง ที่เหลือก็คือเลวพอๆ กันหมด! บท! เพลงประกอบ! มุมกล้องดีงามทุกจุด! หักมุมหลายตลบก็ทำได้เนียนอยู่นะ บางจุดเล่นซะหัวเราะป็อปคอร์นแทบพุ่ง ไม่ได้ดูหนังที่ต้องใช้ความคิดได้เพลินขนาดนี้มานานแล้ว ขอคารวะอาจารย์เซี่ยนอวี๋!’

‘…’

หลังจากที่ชาวเน็ตพากันมาถกเถียงอย่างดุเดือด เพลงเปียโนหลายเพลงที่ปรากฏในเรื่องนักปรับเสียงเปียโนก็กลายเป็นบทเพลงคลาสสิกที่ต้องเอ่ยถึง!

ในความจริงแล้ว ความตั้งใจแรกที่หลายคนมาดูเรื่องนี้ก็เพราะเพลง!

‘เพลงเปียโนในตอนแรกสุดยอดมาก แต่เพลงที่สุดยอดที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเพลงตอนที่ซูไท่ตาย’

‘เพลงนั้นปังสุด!’

‘ตอนสุดท้ายมาฟังเพลงนี้อีกครั้ง รู้สึกว่าแค่มาฟังเพลงเฉยๆ ก็คุ้มกับเงินที่จ่ายค่าตั๋วหนังแล้ว! แถมพล็อตเรื่องก็ยังสนุกขนาดนี้อีก…’

‘หนังเรื่องนี้ เป็นช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ในการทำเพลงของเซี่ยนอวี๋เลย!’

‘ทำแบบนี้ ผลของมหาศึกฉินฉู่ยังมีข้อกังขาอยู่อีกไหม’

‘ยังต้องมีข้อกังขาอะไรอีกล่ะ! เพลงที่บรรเลงตอนที่ซูไท่ตายนี่ระดับปรมาจารย์ไปแล้วล่ะมั้ง!’

‘ที่จริงเพลงพวกนี้ก็ยอดเยี่ยมกันทั้งนั้น ตอนแรกที่ฉันฟังเพลงอื่นๆ ก็รู้สึกว่าเซี่ยนอวี๋ตอบกลับได้สุดยอดมาก แต่เพลงเปียโนในฉากที่ซูไท่ตายทำให้ฉันรู้ว่า เซี่ยนอวี๋ตอบกลับได้หนักหน่วงกว่าที่ฉันคิดไว้ซะอีก!’

‘เอ่อ…เหมือนว่าผมจะเข้าใจแล้วว่าทำไมจู่ๆ หยางจงหมิงถึงถอนตัวจากรายการนี้’

‘ในมหาสงครามระหว่างฉินฉู่ครั้งนี้ สตาร์ไลท์มีแค่เซี่ยนอวี๋คนเดียวก็เอาอยู่แล้ว!’

‘…’

ระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น ก็มีคนเอ่ยย้ำเตือนขึ้นมา

‘เพลงสุดคลาสสิกสองเพลงในหนังถูกปล่อยออกมาแล้วนะ ทุกคนเข้าแอปฟังเพลงไปโหลดกันได้ เพลงที่เล่นตอนซูไท่ตายชื่อว่าเพลงวิวาห์ในฝัน อย่าสับสนล่ะ’

ใช่แล้ว

หลังจากที่เรื่องนักปรับเสียงเปียโนเข้าฉาย ทั้งสองบทเพลงเปียโนจากในภาพยนตร์ก็ถูกปล่อยขึ้นในแอปพลิเคชันสตรีมเพลงหลายแห่ง

เพลงแรกมีชื่อว่า ‘คะนึงหา’

จุดเด่นของเพลงนี้อยู่ที่สไตล์อันแปลกใหม่

เพลงที่ทุกคนชื่นชอบที่สุด ยังคงเป็นเพลงวิวาห์ในฝันซึ่งปรากฏในตอนที่ซูไท่ตาย และตัวเอกก็บรรเลงอีกครั้งในตอนจบด้วย!

บุคลากรในวงการดนตรียังไม่ง่วงกัน

เพราะหลังจากที่บทเพลงเหล่านี้ถูกปล่อยออกไป คนดนตรีจากทั้งฉินและฉู่ก็รีบไปฟังเพลงใหม่ของเซี่ยนอวี๋ในทันที

ปรากฏว่า

ทันทีที่ฟังเพลงวิวาห์ในฝันจบ คนดนตรีจากมณฑลฉู่ก็เงียบงันไป

หากหยิบยืมมุกที่ชาวเน็ตมักจะแซวกันมาอธิบายสถานการณ์ของคนฉู่ในตอนนี้ เห็นทีก็เหมาะสมทีเดียว

‘ฉันยอมแพ้แล้ว นายล่ะ’

‘ฉันเป็นคนเริ่มมันเอง’

………………………………………………………….