ตอนที่ 1227 วัสดุปรับสภาพบรรยากาศ?

Scholar’s Advanced Technological System ระบบปั้นอัจฉริยะ

ตั้งแต่สถานีวิจัยบนดวงจันทร์สร้างขึ้นมาเสร็จ เวลาก็ผ่านไปนานแล้ว จำนวนคนที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ก็เพิ่มขึ้นมาแทบจะเป็นสองเท่าจากเดิมในเวลาหนึ่งปี ตอนนี้มีคนมากกว่า 50 คนแล้ว

แต่จำนวนคนที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่

เมื่อช่วงต้นปีคณะกรรมการวงโคจรของดวงจันทร์ประกาศว่าพวกเขาจะตั้งข้อจำกัดระยะสั้นในเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัยถาวรบนพื้นผิวดวงจันทร์ พวกเขายังต้องใช้หน่วยงานจัดการเพื่อทำให้แผนวิจัยและแผนพัฒนาทรัพยากรบนดวงจันทร์แผนปัจจุบันดำเนินต่อไปได้อีกด้วย จำนวนเจ้าหน้าที่ถาวรบนสถานีวิจัยควรจะอยู่ที่จำนวนต่ำกว่า 60 ต่อไป

เหตุผลที่จัดการแบบนี้ไม่ได้เป็นเพราะงบประมาณที่ต้องนำไปลงให้กับนักบินอวกาศมีราคาสูงเกินไป แต่เป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องสภาพการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ต่างหาก

ปัญหาเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับปัญหาเรื่องระบบสุขาภิบาลที่เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองประสบกัน ถึงแม้จำนวนประชากรของสถาบันวิจัยบนดวงจันทร์จะมีขนาดน้อยกว่าเมืองเมืองหนึ่งมาก แต่เพราะไม่มีระบบนิเวศที่สามารถทำให้สสารสามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ ทำให้ปัญหาระบบสุขาภิบาลที่เกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นก็จะถูกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามไปด้วย

โดยพื้นฐานแล้วร่างกายมนุษย์วัยผู้ใหญ่ 1 คนจะขับของเสียออกจากร่างกายประมาณ 1 กิโลกรัมทุกวัน ซึ่งของเสียที่ว่านี้ก็เป็นกากอาหารเสียมากกว่า 50% สถาบันวิจัยบนดวงจันทร์แทบจะไม่มีวิธีกำจัดกากอาหารพวกนี้เลย

ถึงแม้หน่วยปลูกพืชบนดวงจันทร์จะสามารถนำอุจจาระและปัสสาวะบางส่วนไปใช้ได้ ซึ่งจะทำให้สสารออร์แกนิกกลับเข้าสู่วงจรชีวิตอีกครั้ง แต่ประสิทธิภาพของวงจรนี้ก็ยังไม่สูงมากพอ

เมื่อรวมกับปัญหาการปนเปื้อนของแบคทีเรียและจุลินทรีย์แล้วทำให้เรื่องความสะอาดและความปลอดภัยกลายเป็นปัญหาที่สถานีวิจัยบนดวงจันทร์ไม่สามารถปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรได้ การขนส่งของเสียไปยังโลกก็ต้องใช้ทรัพยากรการขนส่งเป็นยานอวกาศทั้งลำ

ถ้าประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นล่ะก็ คณะกรรมการวงโคจรของดวงจันทร์อาจจะต้องวางแผนเพิ่มเส้นทางพิเศษเพื่อขนส่งอุจจาระและปัสสาวะโดยเฉพาะ

แต่การเข้ามาของจุลินทรีย์ Dr-111 เป็นจุดเปลี่ยนของทุกสิ่งทุกอย่าง

ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหนกันแน่ จู่ๆ ก็เหมือนโปรเจกต์นี้โผล่ขึ้นมาจากอากาศเข้ามาในฐานข้อมูล แล้วก็มีคนได้รับมอบหมายงานให้ทำวิจัยเรื่อง Dr-111

ถึงแม้จะมีคนสงสัยว่าผู้เชี่ยวชาญคนไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังตัวอย่างจุลินทรีย์ที่แสนน่าทึ่งชิ้นนี้ แต่พวกเขาก็ไม่รู้เนื้อหาส่วนลึกเนื่องจากไม่มีข้อมูลอะไรบอกเลย

ลู่โจวกำลังดื่มกาแฟพลางมองข้อมูลที่ส่งกลับมาจากสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ เขามีสีหน้ากระจ่างรู้เกิดขึ้น

อย่างที่เขาคิดไว้ไม่มีผิด จุลินทรีย์ Dr-111 ซับซ้อนกว่าที่เขาจินตนาการไว้ตอนแรกมาก

ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนเต็มไปหมด จุลินทรีย์นี้จะรวบรวมสารคีโตนไปพร้อมๆ กับย่อยสลายเมแทบอไลต์ไปด้วย อันที่จริง ถึงแม้สารคีโตนนี้จะไม่มีอันตรายใดๆ กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่มันกลับเป็นอันตรายต่อตัวมันเอง

การยืดระยะเวลาที่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนจะทำให้ประชากรจุลินทรีย์ทั้งหมดสืบพันธุ์ได้ช้าลงและนำไปสู่การทำลายตัวเองในที่สุด

ในทางกลับกัน หากมันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจน แสง และคาร์บอนไดออกไซด์สูง จุลินทรีย์ชนิดนี้จะสืบพันธุ์ได้ดีในระดับเดียวกับการหาอาหาร

เมื่อมันย่อยสลายเมแทบอไลต์แล้ว มันจะผลิตออกซิเจนขึ้นมาจากการสังเคราะห์แสง มันยังดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านห่วงโซ่โมเลกุลกรดอะมิโนชนิดพิเศษ

ถึงแม้รสชาติจากการกินห่วงโซ่โมเลกุลกรดอะมิโนชนิดพิเศษเข้าไปโดยตรงจะไม่ได้อร่อยนัก แต่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ก็สามารถย่อยมันได้ นี่จึงหมายความว่ามันสามารถเข้าไปอยู่ในวงจรระบบนิเวศโดยตรงได้เลย

ไม่ใช่แค่นั้น แต่เจ้าจุลินทรีย์นี้ยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมแรงโน้มถ่วงน้อยเป็นพิเศษ รวมถึงยังทนทานรังสีตรงที่มาจากรังสีคอสมิกอีกด้วย มันสามารถคงสภาพความมั่นคงของคุณลักษณะโดยรวมของตัวเองได้โดยใช้การแตกตัวและกลืนกินเซลล์ที่เป็นเซลล์มะเร็งของตัวมันเอง

ซึ่งทำให้เจ้าจุลินทรีย์ชนิดนี้เป็นตัวชำระล้างของเสียที่มหัศจรรย์มาก!

การนำมันไปใช้บนโลกนั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีอยู่แล้ว สถานที่ที่มันควรจะได้ถูกนำไปใช้งาน คือบนสถานีอวกาศและดาวเคราะห์ดวงอื่นต่างหาก

หลังจากที่ลู่โจวอ่านรายงานการทดลองตั้งแต่ต้นจนจบ ใบหน้าของเขาก็เปี่ยมไปด้วยความพึงพอใจ ทันใดนั้นเองเขาก็นึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้

“หรือเจ้านี่จะเป็นพวกสสารแปลงสภาพบรรยากาศแบบจำลองอะไรทำนองนั้นหรือเปล่า?”

อารยธรรมระดับ 2 ของคาร์ดาเชฟสเกล[1]อาจจะเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาก็ได้ จากนั้นพวกเขาก็นำมันไปไว้บนดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อจะขยายอาณานิคมของดาวตัวเอง

จุลินทรีย์ชนิดนี้จะเพิ่มตัวเองอย่างบ้าคลั่งในสภาพแวดล้อมที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง มันสามารถเติบโตไปได้อย่างก้าวกระโดด จนในที่สุดก็จะครอบคลุมไปทั้งพื้นแผ่นดินของดาวเคราะห์ดวงนั้น

หลังจากที่ผ่านไปหลายต่อหลายปีเจ้าจุลินทรีย์นี้ก็จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ย่อยสลาย มันจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินและปล่อยออกซิเจนออกมา กลายเป็นการเร่งกระบวนการวิวัฒนาการของชั้นบรรยากาศ ซึ่งนี่จะทำให้การสังเคราะห์แสงเกิดธาตุคาร์บอนมากขึ้น สสารออร์แกนิกที่สิ่งมีชีวิตใช้ก็จะสามารถเข้าสู่วงจรชีวมณฑลได้

ในระยะสุดท้าย การผลิตออกซิเจนก็จะเพิ่มขึ้นมา และการสังเคราะห์แสงก็จะค่อยๆ กลายเป็นการสลายสารอาหารในที่สุด คีโตนที่สร้างขึ้นมาก็จะเริ่มฆ่าจุลินทรีย์และทำให้มันสูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ จนกระทั่งมันหายไปจากระบบนิเวศทั้งหมด

หลังจากนี้แล้วดาวเคราะห์เจ้าปัญหาที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ก็สามารถเกิดการวิวัฒนาการของบรรยากาศได้ภายในระยะเวลาเพียงสิบปี

ความคิดและไอเดียต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในหัวลู่โจว

มีดาวเคราะห์ที่มีชั้นบรรยากาศไม่กี่ดวงที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตที่ใช้คาร์บอนเป็นหลักในจักรวาลนี้ และการออกซิเดชัน[2]ก็เป็นวิธีที่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ใช้เพื่อรับพลังงานเข้ามาในตัว

ภายใต้สภาวะการวิวัฒนาการแบบธรรมชาติ มันอาจจะต้องใช้เวลาราวร้อยล้านปีกว่าที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนจะกลายเป็นดาวเคราะห์ที่แทบจะสามารถใช้อยู่อาศัยได้

ถ้าอารยธรรมที่อยู่ในระดับ 2 ของคาร์ดาเชฟสเกลนี้สามารถขยายดินแดนไปสู่พื้นที่ที่ห่างไปหลายร้อยปีแสงได้เร็วกว่าการเดินทางของแสงแล้วล่ะก็ แปลว่าอารยธรรมนี้ก็น่าจะเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์แล้ว

ลู่โจวมั่นใจว่าเขาคิดถูก

เพราะโดยปกติแล้วอารยธรรมก็คือการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติ

มีแต่ผู้ป่าเถื่อนเท่านั้นที่จะเลือกความโกลาหล

“ไม่อยากเชื่อเลยว่าจะเจอเรื่องน่าทึ่งอย่างนี้…”

ลู่โจวรู้สึกช็อก หัวใจของเขาเต้นตุบๆ ไปด้วยอะดรีนาลีน

ถ้าความคิดของเขาถูกแล้วล่ะก็ เจ้าจุลินทรีย์นี้จะไม่ใช่แค่ ‘เครื่องกำจัดของเสียเวอร์ชันเอาไปใช้ในอวกาศ’ เท่านั้น แต่ยังจะเป็นฟอสซิลที่มีชีวิตของอารยธรรมชั้นสูงแห่งหนึ่งอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้คู่ควรแก่การศึกษาไม่ใช่แค่ตัวจุลินทรีย์เท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีการปรับสภาพทางชีววิทยาและเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนที่มันอาจจะสอดแทรกไว้ในตัวจุลินทรีย์นี้ด้วย

ไม่แน่ใจว่าต้องทำวิศวกรรมย้อนรอยไปมากเท่าไรกว่าจะหาคำตอบได้ ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนมาเพียงเล็กน้อย มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยอารยธรรมของมนุษย์ได้อย่างใหญ่หลวง

ลู่โจวคิดถึงเรื่องดาวอังคาร

การที่จะไปดัดแปลงสภาพบรรยากาศของดาวอังคารช่างฟังดูเป็นไปไม่ได้เสียเหลือเกิน เพราะแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารนั้นน้อยเกินไป อีกทั้งยังไม่มีการปกป้องจากสนามแม่เหล็กอีกด้วย ถึงแม้จะสร้างสภาพบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับโลกขึ้นมาบนดาวอังคารได้จริง แต่ไม่นานมันก็จะหายไปอยู่ดี

อย่างไรก็ตามหากพวกเขาสามารถสร้างสิ่งที่คล้ายกับชีวมณฑลแบบปิดขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่พวกเขาจะอาศัยอยู่บนดาวอังคารได้เช่นกัน

ด้วยความช่วยเหลือจากพลังการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเจ้าจุลินทรีย์นี้ ตราบใดที่แผนและวิธีการดัดแปลงที่นำมาใช้เหมาะสมมากพอ การสร้างชีวมณฑลแบบปิดขึ้นมาบนดาวอังคารก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใดๆ

แล้วจู่ๆ ลู่โจวก็นึกถึงประโยคที่ผู้สังเกตการณ์พูดกับเขาขึ้นมาได้ เขามีความคิดเรื่องน่ากลัวแวบเข้ามาในหัว

ไม่เคยมีเรื่องบังเอิญบนโลกนี้อยู่แล้ว

บางที…

อาจจะมีบางคนที่ ‘ออกแบบ’ ระบบสุริยะของพวกเราก็ได้

…………………………

[1] คาร์ดาเชฟสเกล (Kardashev scale) เป็นวิธีการวัดระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอารยธรรม ตามปริมาณพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ อารยธรรมระดับ 2 มีชื่อว่า อารยธรรมดาวฤกษ์ อารยธรรมในระดับนี้สามารถใช้ และควบคุมพลังงานที่มีอยู่ในระดับของระบบดาวเคราะห์ของตนได้เกือบทั้งหมด

[2] ปฏิกิริยาที่อะตอมหรือโมเลกุลเกิดการสูญเสียหรือให้อิเล็กตรอนกับโมเลกุลหรืออะตอมอื่นเพื่อสร้างความเสถียรให้กับโมเลกุล โดยปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์เรียกว่า กระบวนการเมตาบอลิซึม