ตอนที่ 236 นักปรับเสียงเปียโน

Full-time Artist ใครว่าผมไม่เหมาะเป็นศิลปิน

ตอนที่ 236 นักปรับเสียงเปียโน

“กำลังผลิต…”

“กำลังผลิต…”

“กำลังผลิต…”

หลินเยวียนนึกสงสัยว่าระบบขัดข้องซะแล้ว

เพราะการผลิตผลงานของระบบ ปกติแล้วจะใช้เวลาสิบกว่าวินาที บางครั้งบางคราวหลายสิบวินาทีก็นับว่านานมากแล้ว ทว่าการผลิตชิ้นงานของระบบในครั้งนี้กินเวลาห้านาทีเต็มๆ กว่าจะตอบหลินเยวียน “สุ่มเลือกสำเร็จ ไม่ทราบว่าโฮสต์ยอมรับบทภาพยนตร์ราคายี่สิบห้าล้านหยวนหรือไม่”

“เท่าไหร่นะ”

หลินเยวียนคิดว่าตนฟังผิดไป

“ยี่สิบห้าล้าน”

หลินเยวียนชักจะสงสัยว่าระบบหยอกเขาเล่นแล้ว บทภาพยนตร์แพงได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ เงิน 25 ล้านเอาไปสั่งทำเพลงได้ตั้งกี่เพลง ต่อให้เป็นนิยายก็ยังสั่งทำได้ตั้งหลายเรื่องใช่ไหมล่ะ

แต่จะว่าไป

ความสามารถในการเรียกเงินเรียกทองของภาพยนตร์เรื่องแรกของหลินเยวียนอย่างถังปั๋วหู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศก็น่ากลัวใช้ได้เลย

ถ้าภาพยนตร์เรื่องใหม่ยังคงมีมาตรฐานในการทำเงินเช่นนี้อีก จ่ายเงินก้อนนี้สั่งผลิตบทภาพยนตร์สักเรื่องก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ทุกเรื่องล้วนมีหนทาง

หลินเยวียนเคยเดินผ่านหนทางที่ยาวไกลที่สุดมาแล้ว นั่นก็คือเดินตามหนทางของระบบ

“ถึงยังไงก็ใช้เงินทำการกุศล ฉันจะไปว่าอะไรได้ นายบอกว่าเท่าไหร่ก็เท่านั้นแหละ ถ้าหนังไม่ทำเงิน ต่อไปฉันก็จะไม่ทำหนังแล้วนะ”

หลินเยวียนพูดแกมขู่

ระบบไม่ได้อินังขังขอบ “จะผลิตหรือไม่”

หลินเยวียนกัดฟันตอบ “ผลิตไปเลย!”

“ติ๊งต่อง”

ระบบแจ้งเตือน ‘ยินดีด้วย โฮสต์ได้รับบท’

ขณะเดียวกัน

เงินของหลินเยวียนถูกระบบหักไป 25 ล้าน

ยังไม่ทันได้รู้สึกปวดใจ

สายตาของหลินเยวียน ก็เบนไปยังบทภาพยนตร์เรื่อง ‘นักปรับเสียงเปียโน’

นี่มัน…

บทภาพยนตร์แนวอาชญากรรม-ระทึกขวัญ

ชั่วขณะนั้น หลินเยวียนทำความคุ้นเคยกับบทผ่านการอ่านอัตโนมัติแล้ว

จะว่ายังไงดีล่ะ

หนังเรื่องใหม่นี้เป็นคนละแนวกับถังปั๋วหู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศอย่างแน่นอน เรียกว่าห่างไกลกันราวขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้เลย!

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้กระโดดจากภาพยนตร์คอมเมดี มาเป็นแนวอาชญากรรมระทึกขวัญ…

ตอนที่เขียนนิยาย หลินเยวียนก็ประสบพบเจอกับประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาหลายครั้งแล้ว

ตัวอย่างเช่น เรื่องปรินซ์ออฟเทนนิสเขียนออกมาอย่างดิบดี หลังจากนั้นระบบก็เขวี้ยงนิยายเทพเซียนกำลังภายในมาให้

ตัวอย่างเช่น เขาเขียนนิยายแนวเทพเซียนกำลังภายในออกมาได้ไม่เลว ระบบก็ดันให้เขาเขียนเรื่องคนขุดสุสานอีก

นี่แหละที่เรียกว่ากระโดดไกล

กระโดดไกลจนแทบได้เหรียญทองโอลิมปิกแล้ว

ยังไม่ต้องบอกว่าโลกภายนอกเดาไม่ออกว่านิยายเรื่องต่อไปของฉู่ขวงเป็นแนวไหน

หลินเยวียนเองก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน…

หลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็น หลินเยวียนและโลกภายนอกพากันช่วยเดาว่าภาพยนตร์เรื่องต่อไปของเซี่ยนอวี๋จะเป็นแนวไหน?

เอาเถอะ

ไม่บ่นแล้ว

หลังจากที่หลินเยวียนอ่านบทเรื่อง ‘นักปรับเสียงเปียโน’ ด้วยความเร็วแสง ก็พอจะเข้าใจเรื่องราวคร่าวๆ แล้ว

สิ่งแรกที่มั่นใจได้ก็คือ บทภาพยนตร์ของเรื่องนักปรับเสียงเปียโน[1] ดัดแปลงบทมาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจากแดนภารตะ

อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องชี้แจงก่อนว่า ภาพยนตร์จากประเทศอินเดียเรื่องนี้ไม่ใช่ต้นฉบับ

เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ของอินเดีย ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งจากแดนน้ำหอม

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ…

ประเทศฝรั่งเศสปล่อยภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘นักปรับเสียงเปียโน[2]’ ประเทศอินเดียนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว และระบบกลับใช้เวอร์ชันของอินเดียมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ของบลูสตาร์…

ดัดแปลงทั้งหมดสามรอบถ้วน

แต่ระบบก็เอ่ยเตือนหลินเยวียน “การปรับแก้ครั้งแรกจะดัดแปลงโดยระบบ หลังจากนั้นการดัดแปลงฉากหลังของภาพยนตร์จะดำเนินการโดยโฮสต์เอง”

หลินเยวียนไม่ได้สนใจ

การเปลี่ยนฉากหลังของเรื่อง หลินเยวียนเชี่ยวชาญเหลือเกิน

ไม่รู้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถอนทุนคืนได้ไหม

ไม่ใช่ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แต่อย่างใด ภาพยนตร์อย่างเรื่องนักปรับเสียงเปียโนให้ความสำคัญกับตรรกะของพล็อตเรื่อง และไม่ง่ายเลยที่ภาพยนตร์แนวนี้จะทำยอดบล็อกบัสเตอร์ได้สูง

ใช่แล้ว

ชื่อของภาพยนตร์ก็สามารถเปลี่ยนได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากตัวเอกซึ่งเป็นนักเปียโนแล้ว เรื่องอื่นๆ แลดูคล้ายกับจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชื่อเรื่องนักปรับเสียงเปียโนเลย

ถึงแม้ภาพยนตร์ต้นฉบับจะใช้ชื่อว่านักปรับเสียงเปียโนจริงๆ นอกจากนั้นอาชีพของตัวละครจากเวอร์ชันฝรั่งเศสก็เป็นนักปรับเสียงเปียโนจริงๆ

ทว่าความจริงแล้ว ในพล็อตเรื่องของอินเดีย ตัวละครเอกเป็นนักเปียโน ดังนั้นใช้ชื่อเรื่องว่า ‘นักเปียโน’ น่าจะใกล้เคียงกว่า

นอกจากนั้นทางอินเดียยังแปลชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ‘บทเพลงในโลกมืด’ หรือ ‘ท่วงทำนองที่มองไม่เห็น’

ผู้กำกับถึงขั้นคิดว่าจะใช้ชื่อว่า ‘สังหารนักเปียโนนั่นซะ’ ด้วยซ้ำไป

สรุปก็คือ

ไม่ว่าจะเลือกใช้ชื่อไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนปมขัดแย้งหลักของเรื่องได้!

ภาพยนตร์เรื่องนักเปียโนนี้ จะดำเนินไปโดยวนเวียนอยู่กับปมขัดแย้งหลัก และปมขัดแย้งหลักนี้ก็คือ

นักเปียโนซึ่งปลอมเป็นคนตาบอด และเป็นพระเอกของเรื่อง ได้เข้าไปบรรเลงเปียโนในบ้านของดาราคนหนึ่ง

ปรากฏว่า นั่นทำให้เขาไปพบเห็นฉากฆาตกรรมเข้า

เพราะพระเอกกำลังแกล้งเป็นคนตาบอดอยู่ ฆาตกรจึงปล่อยพระเอกไปชั่วคราว

หลังจากพระเอกออกมา ก็รีบไปแจ้งความกับหน่วยลาดตระเวน (เวรกรรมน่ะสิไม่ว่า)

ปรากฏว่า ยังไม่ทันได้แจ้งความสำเร็จ พระเอกก็พบว่า

หัวหน้าหน่วยลาดตระเวน ก็คือฆาตกรที่ตนเพิ่งเห็นเมื่อครู่?

พล็อตเรื่องตึงเครียดขึ้นมาทันที

ก่อนหน้านี้หลินเยวียนไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อระบบส่งบทมาให้ จึงทำให้หลินเยวียนรู้สึกแปลกใหม่ไม่น้อยทีเดียว

วางโครงเรื่องได้เยี่ยมยอดจริงๆ

พระเอกซึ่งแสร้งเป็นคนตาบอดมานาน ดันกลายมาเป็นพยานบุคคลซึ่งพบเห็นคดีฆาตกรรม…

แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว

นอกจากบทแล้ว ระบบยังจัดเตรียมภาพยนตร์ต้นฉบับสำหรับการอ้างอิงให้กับหลินเยวียนด้วย

หลังจากที่หลินเยวียนดูหนังจบ ก็เปรียบเทียบกับบทที่ระบบจัดไว้ให้ และพบว่าบทของระบบได้ปรับจังหวะของเรื่องราวเล็กน้อย

ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์ เรื่องราวของความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระเอกกับแฟนสาวถูกตัดออกไปมาก

ภาพยนตร์เข้าสู่ปมขัดแย้งหลักรวดเร็วกว่าต้นฉบับ

นอกจากนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีจุดน่าสนใจอีกหนึ่งแห่ง

นั่นก็คือพระเอกจะเล่นบทเพลงเปียโน บทเพลงเหล่านี้ระบบก็ตระเตรียมโน้ตไว้ให้หลินเยวียนเสร็จสรรพ…

เดี๋ยวนะ!

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ระบบอยากให้เขาถ่ายทำเรื่องนักเปียโนสินะ?

ถ้าบอกว่าภาพยนตร์แนวตลกของโจวซิงฉือกับตัวตนในฐานะนักประพันธ์เพลงของหลินเยวียนไม่เกี่ยวข้องกันเลยสักนิด งั้นเรื่องนักเปียโนจำเป็นต้องมีนักประพันธ์เพลงสักคนอยู่ในนั้น!

เช่นเดียวกับที่มีบทกวีมากมายปรากฏในเรื่องถังปั๋วหู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศ

บทเพลงซึ่งใช้ในเรื่องนักเปียโนครั้งนี้ จำเป็นต้องมีคุณภาพที่โดดเด่น

จริงสิ

บางทีตนอาจใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นโอกาสในการปล่อยเพลงวิวาห์ในฝันที่ตนยังไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ก็ได้!

นี่คือภาพยนตร์

ภาพยนตร์สามารถนำศิลปะแต่ละแขนงมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรับชมและรับฟัง!

เมื่อคิดเช่นนี้

จู่ๆ หลินเยวียนก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่าบทภาพยนตร์เรื่องนักเปียโนก็ไม่เลวเหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของภาพยนตร์หรือคุณภาพของบทภาพยนตร์ ก็จัดว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง

เหลือก็แค่นักแสดง…

เดิมทีคิดว่าอยากใช้นักแสดงที่คุ้นเคยจากเรื่องถังปั๋วหู่ ใหญ่ไม่ต้องประกาศ เช่นเฮ่อเซิ่ง

แต่เห็นทีตอนนี้จะใช้พระเอกไม่ได้แล้ว

ส่วนนักแสดงนำหญิงสามารถพิจารณาจัดบทบาทได้ เช่น คนรักของพระเอก

งั้นนักแสดงนำหญิงชื่ออะไร?

ถึงอย่างไรก็ต้องเลือกคนที่ค่าตัวไม่สูง

ผู้กำกับจะเป็นใครไม่เกี่ยง ใช้อี้เฉิงกงต่อก็ได้

เหตุผลแสนง่ายดาย

เพราะภาพยนตร์ของหลินเยวียน มีนักเขียนบทเป็นหัวใจสำคัญ ผู้กำกับเป็นเพียงผู้ช่วยงานที่มาทำให้หลินเยวียนบรรลุเป้าหมาย

ภาพยนตร์จะถ่ายทำอย่างไร หลินเยวียนได้จัดเตรียมรายละเอียดไว้ในบทล่วงหน้าแล้ว…

………………………………….

[1] นักปรับเสียงเปียโน หรือบทเพลงในโลกมืด หรือ Andhadrun (2018) ภาพยนตร์ภาษาฮินดีจากประเทศอินเดีย กำกับโดยศรีราม รากาวัน

[2] นักปรับเสียงเปียโน (The Piano Tuner) หรือ L’Accordeur (2010) ภาพยนตร์สั้นจากประเทศฝรั่งเศส เขียนบทและกำกับโดยโอลิวิเยร์ เทรเนอร์