ตอนที่ 303 ผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้
มีใครทำได้อีกไหมล่ะ?
ฉู่ขวงเป็นคนเขียนหนังสือ แต่คุณกลับออกตัวอวยแรงซะขนาดนี้ คนที่ไม่รู้จะคิดเอาได้ว่าเซินเจียรุ่ยเป็นคนเขียนเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์
ในวงการมีคนที่แอบรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่หมอนี่อวยฉู่ขวงนั้นเป็นความจริง
สมแล้วที่ได้รับฉายาว่าสาวกฉู่ขวง
แน่นอนว่าไม่ใช่คอมเมนต์จะเทไปทางบวกเสียทั้งหมด ฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์เป็นผลงานซึ่งเป็นที่ถกเถียงมากที่สุดของอกาธา คริสตี ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องความคิดเห็นจะแบ่งเป็นสองขั้ว เสียงของผู้ที่ไม่ชอบนั้นมีอยู่จริง
‘เทคนิคการเขียนขี้เกียจไปอีก ยอมทิ้งอรรถรสของคดีไป เพื่อให้ตอนจบของเรื่องตื่นเต้น รู้สึกว่าตื้นเขินเกินไปหน่อย’
‘เห็นชัดๆ ว่าหลอกลวงผู้อ่าน คนโดนหลอกยังมีความสุขกันอีก สร้างสรรค์อยู่หรอก แต่ผมไม่ชอบนิยายสืบสวนสอบสวนแบบนี้’
‘ไม่ชอบวิธีการเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่ฉันก็ยอมรับนะว่านี่เป็นการสร้างสรรค์วิธีเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนรูปแบบใหม่จริงๆ เพียงแต่ฉันก็ภาวนาไม่ให้นักเขียนที่ฉันชอบทำตาม’
‘นิยายสืบสวนสอบสวนจะใช้ระดับความยากในการเดาตัวฆาตกรมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินไม่ได้…วิธีเขียนแบบวิถีมารชัดๆ ผมชอบแนวสืบสวนสอบสวนที่ตามเบาะแสไปทีละนิดจนความจริงเปิดเผยมากกว่า ผมคงไม่เหมาะกับวิธีการเล่นคำแบบนี้ของนักเขียน’
‘ตอนจบชวนตะลึงก็จริง แต่มีแค่ผมคนเดียวหรือเปล่าที่คิดว่าช่วงกลางเรื่องน่าเบื่อสุดๆ?’
‘ถึงจะเขียนดี แต่ฉันก็ยังรับวิธีเล่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้อะ มันให้ความรู้สึกแบบ ถึงจะน่าทึ่ง แต่ฉันก็รู้สึกเหมือนถูกหลอก แอบรู้สึกแย่อยู่นะ’
‘…’
นักเขียนที่ตลบหลังผู้อ่านจะต้องชดใช้!
เพราะใช่ว่าผู้อ่านทุกคนจะยอมรับการตลบหลังลักษณะนี้ได้
มิหนำซ้ำ วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนมีหลากหลายประเภท ประเภทซึ่งใช้เทคนิคผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้นั้นกลับ ‘เป็นพิษ’ ในทัศนะของแฟนวรรณกรรมแนวนี้หลายคน
ในช่วงที่คุณย่าปล่อยเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ออกมา ก็ถูกตั้งข้อสงสัยอยู่หลายครั้ง ผู้คนมองว่านี่เป็นความไม่ยุติธรรมต่อผู้อ่าน เป็นธรรมดาของสิ่งใหม่ๆ เมื่อเกิดขึ้นมาก็มักจะต้องเผชิญกับข้อกังขาอยู่ร่ำไป
ในตอนนั้น
ผู้ที่คิดว่าตนกำลังถูกพิษเจียนตายนั้นไม่ได้มีเพียงผู้อ่าน ยังรวมไปถึงนักเขียนด้วย!
ใช่แล้ว มีนักเขียนวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนจำนวนหนึ่ง เมื่ออ่านฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์จบแล้ว ก็รู้สึกราวกับตนถูกตลบหลัง ทันทีที่อ่านจบก็สาปส่งฉู่ขวงไปหนึ่งยก
ส่วนมากผู้ที่ปากคอเราะร้ายสักหน่อยก็เพียงสบถไปสองประโยค
แต่มีนักเขียนบางคนซึ่งชอบระบายอารมณ์โดยธรรมชาติ ตัวอย่างเช่นเหลิ่งกวง นักเขียนแนวสืบสวนสอบสวนชื่อดังจากมณฑลฉี
เหลิ่งกวงเปิดฉากระบายความคับข้องใจทันที
‘เมื่อคืนเริ่มอ่านเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ที่มีคนแนะนำผมมา ผมจึงอ่านด้วยใจซึ่งเปี่ยมไปด้วยความคาดหวัง หลังจากอ่านจบกลับผิดหวังมาก ผมพูดได้เพียงว่า นี่มันผิดกฎ!’
จะบอกว่าระบายความคับข้องใจก็อาจเกินจริง เมื่อมองจากรูปคำแล้วก็นับว่าละมุนละม่อม แต่เหลิ่งกวงก็ไม่พอใจจริงๆ
เหลิ่งกวงเป็นนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ขึ้นชื่อเรื่องความตรงไปตรงมา แถมยังเคยโพสต์ ‘ห้ากฎหลักของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน’
กฎเหล่านี้เป็นที่นิยมมากในวงการ
กฎข้อที่หนึ่ง: วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนไม่สามารถใช้วิธีเหนือธรรมชาติมาไขคดี
กฎข้อที่สอง: ขณะสร้างคดี ไม่สามารถใช้ยาพิษซึ่งยังไม่ถูกคิดค้น หรืออุปกรณ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้คำอธิบายเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์
กฎข้อที่สาม: นักสืบห้ามไขคดีจากเบาะแสซึ่งไม่ได้เอ่ยถึงในนิยายกับผู้อ่าน
กฎข้อที่สี่: นักสืบห้ามไขคดีจากสิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณ
กฎข้อที่ห้า: นักสืบห้ามเป็นผู้ก่อเหตุ
สามสี่ข้อแรกนั้นไร้ซึ่งข้อถกเถียง ในวงการล้วนยอมรับ เพราะเงื่อนไขดังกล่าวนี้จะทำให้ผลงานสูญเสียอรรถรสไปจริงๆ
แต่เงื่อนไขที่ว่านักสืบห้ามเป็นผู้ก่อเหตุ กลับมีคนไม่เห็นด้วย
โลกของนิยายมีผลงานซึ่งเดินวิถีมารเหล่านั้น ที่ทำให้นักสืบกลายเป็นผู้ก่อเหตุ
เพราะฉะนั้น เหลิ่งกวงจึงเอ่ยถึง ‘ห้ากฎหลักของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน’ ทว่าในวงการกลับตัดข้อที่ห้าออก และทำให้กลายเป็น ‘สี่กฎหลักของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน’
นั่นก็ทำให้เหลิ่งกวงหัวเสียกับผู้คนจำนวนมากในวงการมาโดยตลอด
พวกคุณกล้าตัดกฎข้อสุดท้ายของฉันออกโดยพลการเชียวหรือ?
และถึงแม้ในเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ นักสืบจะไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ ‘ผม’ ซึ่งเป็นเจ้าของมุมมองที่หนึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ก็คล้ายคลึงกับตัวนักสืบเป็นฆาตกรเสียเอง
ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่เหลิ่งกวงรับไม่ได้!
อย่างไรก็ดี คำวิจารณ์ของเหลิ่งกวง ไม่ได้ก่อให้เกิดเสียงต่อต้านมากนัก เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าเหลิ่งกวงเป็นนักระบายความคับข้องใจตัวยงของวงการวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน
ไม่มีใครจงเกลียดจงชังเหลิ่งกวงถึงเพียงนั้นหรอก
เจ้านี่ก็แค่ขี้บ่น แต่ก็มีความจริงเจือปนอยู่ในนั้นบ้าง
อันที่จริง บนโลกเองก็มีนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนไม่น้อยที่เกลียดวิธีการเขียนแบบผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ ทั้งยังออกตัววิจารณ์ต่อสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่นแอลเลอรี ควีนซึ่งมีชื่อเสียงเป็นรองคุณย่าเล็กน้อย (แอลเลอรี ควีนเป็นนามปากกาซึ่งนักเขียนสองคนใช้ร่วมกัน)
แน่นอนว่าควีนไม่กล้าวิจารณ์คุณย่า แต่ก็ไม่ชอบวิธีการเขียนรูปแบบนี้
แต่ทุกเรื่องย่อมมีสองด้านเสมอ
ตัวอย่างเช่น ฮิงาชิโนะ เคโงะ[1] ผู้เลื่องชื่อ
ผลงานเรื่องเจตนาเลือด[2]ของเขาก็เป็นผลงานสุดคลาสสิกชิ้นหนึ่งซึ่งใช้เทคนิคผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ เขาให้ความนับถือคุณย่ามาโดยตลอด เห็นได้ชัดว่าฮิงาชิโน เคโงะก็ยอมรับรูปแบบการเขียนนี้
ประจวบเหมาะพอดี
นักเขียนชื่อดังในยุคนี้ก็ยอมรับเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ คนคนนี้ก็คือนักเขียนวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนคนสำคัญของมณฑลฉู่ คาเธอร์!
คาเธอร์นั้นโด่งดังกว่าเหลิ่งกวงมาก
เขาแสดงความคิดเห็นบนปู้ลั่วเกี่ยวกับเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ ในคำพูดของเขาเต็มไปด้วยคำชื่นชม
‘ใช้กลอุบายนำเสนอเรื่องราว นี่เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมมาก เมื่ออ่านนิยายไปถึงตอนที่ห้านับจากสุดท้าย ผมก็เดาตัวฆาตกรได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความตกใจของผมหลังจากอ่านถึงตอนจบนั้นลดลงเลย นี่เป็นกระบวนการคิดของผู้เปี่ยมพรสวรรค์อันแท้จริง! ฉู่ขวงบุกเบิกรูปแบบการเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนรูปแบบใหม่ ผมละคันไม้คันมือ อยากใช้รูปแบบนี้เขียนผลงานออกมาสักครั้ง น่าเสียดายที่ผ่านมาผมไม่เคยอ่านผลงานอื่นของฉู่ขวง ทว่าในตอนนี้ผมมีประโยคหนึ่งอยากบอกกับฉู่ขวง ยินดีต้อนรับสู่วงการวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน เราจะตั้งตารอผลงานที่ดียิ่งขึ้นไปในอนาคตของคุณ!’
คำพูดของบุคคลระดับปรมาจารย์ย่อมมีอิทธิพลเป็นวงกว้าง
มีผู้อ่านบางส่วนของคาเธอร์ ถึงแม้จะไม่ชอบเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ แต่เมื่อเห็นไอดอลกล่าวเช่นนี้ ตราชั่งในใจย่อมค่อยๆ เอนไปทางฉู่ขวง
‘มาคิดดูดีๆ แล้ว ที่อาจารย์คาเธอร์พูดก็ไม่ผิดตรงไหน นี่เป็นรูปแบบใหม่ของนิยายสืบสวนสอบสวน’
‘ก่อนหน้านี้เห็นมีคนบอกว่างานเขียนสไตล์นี้น่าขยะแขยง พอได้อ่านความเห็นของปรมาจารย์อย่างอาจารย์คาเธอร์แล้ว การตัดสินสิ่งใหม่ๆ ต้องมองจากหลายมุม!’
‘ท่านคาเธอร์พูดได้ว่ามองมุมกว้าง เพราะหลังจากนี้การเขียนรูปแบบนี้จะนำพามาซึ่งผลงานที่ลอกเลียนรูปแบบอีกนับไม่ถ้วน และอันที่จริงนี่ก็เป็นเรื่องดีต่อการพัฒนาวงการวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนในอนาคต’
‘นึกไม่ถึงว่าอาจารย์คาเธอร์จะชอบหนังสือเรื่องนี้ด้วย แหะๆ ฉันกับไอดอลของฉันมีรสนิยมเหมือนกันเลยนะเนี่ย’
‘…’
เหลิ่งกวงเข้าไปคอมเมนต์อย่างไม่สบอารมณ์นัก ‘ขออนุญาตเห็นต่างครับ’
คาเธอร์ตอบกลับ ‘^_^’
ขอเสริมสักหน่อย หลังจากที่เหลิ่งกวงเผยแพร่ห้ากฎหลักของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน คาเธอร์นี่แหละคือผู้ลบกฎข้อที่ห้าออกไป
ในตอนนั้นคาเธอร์ชื่นชมห้ากฎหลักของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนของเหลิ่งกวงสารพัด ชมปะเหลาะว่าเสี่ยวกวงกวงนายเก่งสุดยอดไปเลย หลังจากนั้นก็หันหลังไปขีดฆ่ากฎข้อที่ห้าออก ทำให้กลายเป็นสี่กฎหลักซึ่งสืบต่อกันมาในโลกแห่งวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน
ตอนนั้นเหลิ่งกวงโมโหจนควันออกหู
เดิมทีเขาชื่นชอบคาเธอร์มาก ทว่าเรื่องนี้ทำให้เหลิ่งกวงผันตัวกลายเป็นแอนตี้แฟน
วันนี้ดันมาเห็นคาเธอร์ชื่นชมเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ ไฟก็พลันสุมขึ้นในอก
และหลังจากที่การถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้น บัญชีผู้ใช้ทางการก็เคลื่อนไหว โดยเพิ่มหมายเหตุสำคัญให้กับกระแสของนิยายสืบสวนสอบสวนครั้งนี้
‘ฉู่ขวงบุกเบิกสายธารของวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนด้วยเทคนิคผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ ผ่านเรื่องฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็กครอยด์ สิ่งที่เรียกว่าเทคนิคผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของนิยายสืบสวนสอบสวน ในอนาคตอาจมีผลงานชิ้นใหม่ออกมา แต่จะไม่มีผู้ใดที่สามารถบดบังความล้ำเลิศของผลงานชิ้นนี้ของฉู่ขวงได้!’
นักเขียนในสังกัดยอดเยี่ยมกระเทียมเจียวอยู่แล้ว!
คลังหนังสือซิลเวอร์บลูกำลังทำให้บรรยากาศนี้มั่นคง และกลายเป็นความจริง
ในอุตสาหกรรมนิยายสืบสวนสอบสวน ฉู่ขวงคือผู้บุกเบิกรูปแบบผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้อย่างแท้จริง!
………………………………………………………….
[1] ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ปริศนาดอกไม้มายา พันธุกรรมอำพราง ความลับใต้ทะเลสาบ ฆาตกรรมคืนฝนดาวตก ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ เป็นต้น
[2] เจตนาเลือด (Malice) นิยายแนวฆาตกรรม โดยฮิงาชิโนะ เคโงะ ฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ แปลเป็นไทยโดยสุริยงวรวุฒิ สิริวิวัฒน์กุล