บทที่ 40 การโต้กลับของเด็กๆ

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น สวี่เจวี๋ยและต้าเป่าต่างพากันเก็บที่นอน พร้อมทั้งจัดการตัวเองให้เรียบร้อยเพื่อเริ่มต้นวันแรกในสำนักศึกษา พวกเขายังเด็กจึงได้เรียนหลักสูตรที่ไม่ยากมากนัก เช่น “คัมภีร์สามอักษร[1]” และ “ตำราพันอักษร[2]” เป็นต้น

ในสำนักศึกษามีเด็กอยู่ยี่สิบคน อายุระหว่างเจ็ดถึงสิบขวบ สวี่เจวี๋ยและต้าเป่าเป็นน้องเล็กคนสุดท้อง เด็กน้อยจึงนั่งอยู่ในแถวแรกของชั้นเรียน อาจารย์ที่รับผิดชอบสั่งสอนพวกเขาคือท่านอาจารย์จ้าว ทันทีที่อาจารย์จ้าวเข้ามา เหล่าศิษย์ผลัดกันคำนับน้ำชาต่ออาจารย์ แล้วกล่าวว่า เป็นอาจารย์หนึ่งวันเป็นบิดาตลอดชีวิต การเคารพครู และคุณธรรมของลัทธิเต๋านี้ถือได้ว่าเป็นมารยาทที่จำต้องปฏิบัติอย่างไม่มีข้อยกเว้น

เมื่อคำนับชาเสร็จแล้ว อาจารย์จ้าวจะสอบถามพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ พวกเขาเคยเรียนที่สำนักไหนมาก่อนหรือไม่? พวกเขารู้หนังสือหรือไม่? ศิษย์แต่ละคนมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแค่ไหน? เพื่อที่จะได้สอนตามความสามารถของพวกเขา

หลังจากคำนับน้ำชาจึงเริ่มการสอนอย่างเป็นทางการ

ทั้งต้าเป่าและสวี่เจวี๋ยตั้งใจฟังคำสอนอย่างจริงจัง

ดวงตาของต้าเป่าเป็นประกาย อาจารย์จ้าวคือคนที่มีความรู้มากที่สุดที่เขาเคยรู้จักมา

ในใจของเด็กชายบังเกิดความเลื่อมใสขึ้น

หลังจากที่ได้เริ่มเล่าเรียนมาสองสามวัน สวี่เจวี๋ยสังเกตเห็นว่าบางอย่างผิดปกติออกไป สวี่เจวี๋ยนั้นมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าต้าเป่า สมัยที่บิดายังมีชีวิตอยู่เขาเคยพบเห็นผู้คนมามากมาย เด็กชายรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าอาจารย์จ้าวผู้นี้ไม่ชอบพวกเขา

ตัวอย่างเช่น อาจารย์จ้าวรู้ว่าต้าเป่าเพิ่งหัดอ่านเขียน แต่ตั้งใจจะถามคำถามยาก ๆ กับคนที่ยังไม่รู้หนังสือ โชคดีที่ต้าเป่าเฉลียวฉลาดและเขาได้เรียนรู้คัมภีร์สามอักษรและตำราพันอักษรด้วยตัวเองมาบ้างแล้ว จึงทำให้สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ทั้งหมด หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เขาจงใจให้ต้าเป่าและสวี่เจวี๋ยทำความสะอาดชั้นเรียน โดยบอกว่าเป็นการทำให้เขาพัฒนาตนเอง

หากอยากให้พวกเขาพัฒนาจริง ๆ ก็ควรให้เวลาพวกเขาอ่านหนังสือมากขึ้นมิใช่หรือ? ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เหมือนกับต้องการกลั่นแกล้งพวกเขา ทว่าสวี่เจวี๋ยไม่ได้บอกเรื่องนี้กับต้าเป่า แม้ต้าเป่าจะมีอายุมากกว่า แต่ด้วยประสบการณ์ของอีกฝ่ายมีน้อย อีกทั้งเขาเคยมีชีวิตอย่างเรียบง่าย จึงไม่ได้สังเกตเรื่องผิดปกติของอาจารย์จ้าวแต่อย่างใด

มีอยู่ครั้งหนึ่งเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งจงใจหักพู่กันของต้าเป่า เมื่อต้าเป่าขอให้อาจารย์ลงโทษ เขากลับทำราวกับว่าเป็นความผิดของต้าเป่า อาจารย์มองเด็กชายอย่างไม่พอใจ

“ก็แค่พู่กันด้ามหนึ่งเท่านั้น เพื่อนเขาไม่ได้ตั้งใจ เว่ยต้าเป่าเจ้าเป็นสุภาพบุรุษ อย่าได้ไปสนใจเรื่องหยุมหยิมราวกับอิสตรีเลย พวกเจ้าเป็นเพื่อนร่วมชั้นกัน มิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญมากแค่ไหน …เมื่อโตขึ้นเจ้าจะเข้าใจเอง”

“ขอบคุณสำหรับคำสั่งสอนขอรับ” ต้าเป่าพยักหน้าและกล่าวด้วยความสุภาพ

ทว่าหลังจากเหตุการณ์นั้น เมื่อมีเพียงเขาและสวี่เจวี๋ย ต้าเป่าก็อดเสียใจจนต้องบ่นกับสวี่เจวี๋ยไม่ได้

“สวี่เจวี๋ย อาจารย์จ้าวไม่ชอบข้าหรือ?”

สวี่เจวี๋ยลูบหัวต้าเป่าแต่ไม่พูดอะไร แต่เขาสงสัยว่าเหตุใดอาจารย์จ้าวถึงไม่ชอบพวกเขา? เมื่อคิดดูแล้ว ใช่ว่าอาจารย์ทุกคนจะมีคุณสมบัติที่จะเป็นอาจารย์ได้ บางคนเพียงใช้คำว่าอาจารย์นำหน้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการหารายได้เท่านั้น…หรือเพราะพวกเขาไม่สามารถให้เงินอาจารย์เพิ่มได้หรือ?

……

อาจารย์จ้าวก็คือจ้าวซูเหวินนั่นเอง !

จ้าวซูเหวินจงใจเล่นแง่กับเด็กสองคนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฉินเสี่ยวชุ่ยที่คอยเป่าหูเขาและขอให้หาวิธีขับไล่เด็กทั้งคู่ออกจากสำนักศึกษาให้ได้ แต่เขาไม่ได้ทำเพื่อเฉินเสี่ยวชุ่ยทั้งหมดเสียทีเดียว เขามีความปรารถนาของตนเองอยู่แล้ว ชายหนุ่มผู้นี้สนใจถังหลี่เป็นทุนเดิม เพียงแต่เขาไม่ใช่พวกอันธพาลชั้นต่ำที่จะเข้าไปฉุดคร่าบังคับนางมาเป็นของตน จ้าวซูเหวินต้องการให้นางเข้าสู่อ้อมอกของเขาอย่างเต็มใจ เขาตั้งใจเมินเฉยปล่อยให้เด็กคนอื่นรังแกบุตรทั้งสองของนาง และเมื่อพวกเด็ก ๆ ทนไม่ไหวและทะเลาะกับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น พวกเขาจะถูกไล่ออกจากสำนัก…

หญิงสาวผู้นั้นจะรู้สึกสิ้นหวัง และมีแต่เขาคนเดียวที่จะช่วยนางได้ นางจะหันมาพึ่งพาเขา เข้ามาหาเขาอย่างลับ ๆ อาจจะมอบสินน้ำใจให้เขาอีกด้วยซ้ำ จ้าวซูเหวินจะได้ทั้งคนงามและเงินทอง อีกทั้งยังได้ชื่อเสียงอีกด้วย เหมือนกับขว้างก้อนหินครั้งเดียวได้นกถึงสามตัว!

จ้าวซูเหวินมีความคิดที่บรรเจิด

แต่เขาไม่รู้ว่าเด็กสองคนนี้ไม่ใช่เด็กธรรมดาทั่ว ๆ ไป….

………..

ในสำนักศึกษา

“ทำไมเฉินหยูไม่มาเรียนหรือ?”

“เตียงของเฉินหยูมีหนอนตัวยาวอยู่บนนั้น เขาเลยตกใจจนเป็นลมไปเลย!”

“พ่อแม่ของเขามาที่สำนักศึกษาแล้ว กำลังจะพาเขากลับบ้าน”

สวี่เจวี๋ยได้ฟังการสนทนาที่เกิดขึ้น เด็กชายลอบมองหน้ากับต้าเป่า เขาเห็นอีกฝ่ายคลี่ยิ้ม จากนั้นจึงรีบก้มหน้าทำเป็นไม่รู้เรื่องอะไร

เฉินหยูคือคนที่หักพู่กันของต้าเป่า ครอบครัวเฉินมาจากเมืองเหยาสุ่ย เป็นเจ้าของเหลาภัตตาคาร มีฐานะที่ร่ำรวย พวกเขาตามใจเด็กชายจนมีนิสัยเย่อหยิ่ง เพียงเพราะต้าเป่ากล่าวให้อาจารย์ทำโทษเขา เฉินหยูจึงลงมือรังแกต้าเป่าหนักขึ้น

เด็กชายโยนหมึกของต้าเป่าทิ้ง วาดรูปเลอะเทอะบนโต๊ะของต้าเป่าและโยนตำราของเขาทิ้ง ทำให้อาจารย์เข้าใจว่าต้าเป่าเป็นเด็กเกียจคร้าน นอกจากนี้อาจารย์ยังเชื่อคำพูดของเฉินหยูที่มายุแยงอีกว่า ต้าเป่านั่นขี้เกียจตัวเป็นขน จ้าวซูเหวินจึงเรียกต้าเป่ามาดุด่า เห็นได้ชัดว่าอาจารย์กำลังปกป้องเฉินหยู

เฉินหยูยิ่งหยิ่งผยองมากขึ้น!

ต้าเป่าและสวี่เจวี๋ยไม่ได้ต่อกรกับเฉินหยูเลยนะ แต่… เป็นเจ้าหนอนตัวนั้นต่างหากเล่า!

สิ่งที่เอ้อร์เป่าเรียนรู้จากนักเล่านิทานและถ่ายทอดมาให้พวกเขาฟัง ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงคอขาดบาดตายเลยสักนิด เมื่อเฉินหยูออกจากสำนักศึกษาไป ต้าเป่าและสวี่เจวี๋ยก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีใครคอยก่อกวนพวกเขาในการอ่านหนังสือและฝึกคัดตัวอักษร

ตอนนี้พวกเขามีเวลาในการฝึกฝนอย่างจริงจังแล้ว

“ต้าเป่า งานเขียนของเจ้าเป็นอย่างไรบ้าง?” สวี่เจวี๋ยถาม เขาเกยคางลงบนโต๊ะของต้าเป่า อีกฝ่ายยิ้มแห้ง ๆ และส่งให้เขาดู

“ลองดูสิ”

สวี่เจวี๋ยอ่านบทความที่ต้าเป่าเขียน ตัวอักษรยังไม่ค่อยมีพลัง อีกทั้งเนื้อหาของบทความไม่ค่อยสมบูรณ์ดีนัก แต่ด้วยพื้นฐานที่เล็กน้อยของต้าเป่า การเขียนบทความได้ขนาดนี้ถือว่ามีพรสวรรค์มากแล้ว !

“ข้าก็เขียนไว้เหมือนกัน” สวี่เจวี๋ยมอบของตัวเองให้ต้าเป่าอ่าน

ภาษาที่สวี่เจวี๋ยใช้เป็นคำที่เป็นระเบียบและดูดีมาก ต้าเป่าอ่านทวนอีกสองครั้งและรู้สึกว่าเขาได้เรียนรู้จากอีกฝ่ายมากขึ้น!

“เอาไปให้อาจารย์ดูกันเถิด!” สวี่เจวี๋ยจูงมือต้าเป่าออกไป

ในสำนักศึกษาแห่งนี้มีอาจารย์อยู่สามท่านด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือบัณฑิตที่เป็นผู้ก่อตั้งสำนักและเป็นอาจารย์ใหญ่ของที่นี้ คืออาจารย์กัว เขาอยู่ในห้องที่สำนักศึกษาจัดไว้ให้อาจารย์ได้พักผ่อน

สวี่เจวี๋ยและต้าเป่าเดินไปที่ประตูห้องและเขย่งเท้าเคาะประตู ผ่านไปไม่นานประตูบานนั้นก็เปิดออก ชายชราวัยประมาณห้าสิบปียืนอยู่ที่บานประตู เขาคืออาจารย์กัวนั่นเอง

“คารวะอาจารย์กัวขอรับ อาจารย์จ้าวอยู่หรือไม่ขอรับ?” สวี่เจวี๋ยถามอย่างสุภาพ

“เขาไม่อยู่หรอก เหมือนจะมีธุระที่บ้าน เขากลับบ้านไปแล้วล่ะ” อาจารย์กัวตอบเด็ก ๆ

สวี่เจวี๋ยและต้าเป่าคาดหวังไว้อยู่แล้ว พวกเขาตั้งใจคอยสอดส่องว่าอาจารย์จ้าวจะออกจากสำนักตอนไหน เพราะความตั้งใจที่แท้จริงไม่ใช่อาจารย์จ้าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เป็นอาจารย์กัวต่างหาก เด็กทั้งสองแสร้งทำท่าผิดหวังเล็กน้อย

“พวกเจ้ามีเรื่องอะไรหรือ?” อาจารย์กัวถามก้มหน้ามองพวกเขา

“พวกเราลองเขียนบทความขึ้นมา เลยอยากให้อาจารย์จ้าวช่วยชี้แนะขอรับ”

หือ?

อาจารย์กัวมองดูเจ้าหัวไชเท้าน้อย ๆ สองคน ความคิดแรกของเขาคือช่างไร้สาระยิ่งนัก ? เด็กทั้งสองอายุเท่าไหร่กัน? ในชั้นเรียนของอาจารย์จ้าวพวกเขาเรียนรู้แค่คำง่าย ๆ เบื้องต้นเท่านั้น

นี่ช่างเหลวไหลสิ้นดี !

กัวฟู่จื่อไม่แน่ใจว่าเป็นจ้าวซูเหวินที่โง่เขลา หรือเด็กสองคนนี้ทะเยอะทะยานถึงขนาดอยากวิ่งก่อนจะก้าวเดิน!

[1] คัมภีร์สามอักษร คือแบบเรียนอมตะของจีนนับแต่สมัยโบราณ คัมภีร์สามอักษรมีหลายรุ่น แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ในยุคต้นราชวงศ์ชิงมี 380 ประโยค มี 1,140 ตัวอักษร ส่วนรุ่นที่นิยมมากคือรุ่นที่มี 416 ประโยค 1,248 ตัวอักษร เป็นแบบเรียนที่เหมาะกับการสอนเด็กเล็ก ด้วยข้อความสั้นเรียบง่าย วรรคละสามตัวอักษร เมื่อถูกร้องเป็นเพลง เด็ก ๆ สามารถท่องจำได้ง่าย และได้เรียนรู้อักษรทั่วไป พื้นฐานคุณธรรมขงจื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกตัญญูและการเคารพผู้อาวุโส

[2] ตำราพันอักษร แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์เหลียงในยุคราชวงศ์เหนือใต้ หนึ่งวรรคมีสี่ตัวอักษร ทั้งหมด 250 วรรค รวม 1,000 ตัวอักษร จึงเรียกว่า “เชียนจื้อเหวิน”